Welcome to Lifestyle Zone!

11 วิธีง่าย ๆ ตรวจโรคด้วยตัวเอง

ตรวจโรคด้วยตัวเอง

ทำไมถึงต้อว ตรวจโรคด้วยตัวเอง ? เนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้ที่ยังอายุน้อยๆ ป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีผลกระทบทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เวลาอันมีค่าหายไปกับการเทียวไปเทียวมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง

เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ชีวจิต จะชวนผู้อ่านปลีกเวลา หันมามองตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการตรวจสุขภาพคร่าวๆ ที่ง่ายและทำได้ในห้องน้ำ เผื่อว่ามีอะไรผิดปกติ จะได้รีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

ตรวจลิ้นป้องกันโรค

  1. ลิ้นแดงจัด อักเสบรู้สึกปวดแสบปวดร้อน

สาเหตุจากการขาดวิตามินบี 1, บี 2 และ บี 5 ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกชาที่ปลายนิ้ว แขน ขา และเท้านอนไม่หลับ อาจเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับสมองและโรคหัวใจ

วิธีป้องกัน

กินวิตามินบี-คอมเพล็กซ์ ดื่มน้ำอาร์ซี เวลาเช้าหรือจิบทั้งวัน

  1. ลิ้นเป็นฝ้าขาวบางๆ คล้ายคราบนมติด

เกิดจากเชื้อยีสต์ชนิดแคนดิดา(Candida) หรือเชื้อรา บ่งชี้ว่าร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ ระบบย่อยอาหารทำงาน ไม่สมดุล ลำไส้อักเสบ

วิธีป้องกัน

ทำดีท็อกซ์เพื่อลดพิษและปรับสมดุลร่างกาย ดื่มน้ำคั้นจากแตงกวา หรือเซเลอรี่ งดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง

  1. ลิ้นเป็นฝ้าขาวหนาจัด

ได้รับพิษจากแอลกอฮอล์หรือบุหรี่เป็นเวลานาน ทำให้ระบบทางเดินหายใจระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหารตับ และไต ทำงานผิดปกติ เสื่อมสภาพส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำ ถ้าเป็นเรื้อรัง ลิ้นถลอกหรือแผลเปื่อย ให้รีบพบแพทย์

วิธีป้องกัน

หยุดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเบาๆ วันละ 30 นาที ทำดีท็อกซ์ กินวิตามิน ซี และบี-คอมเพล็กซ์

  1. ลิ้นสีน้ำตาลเข้มเกือบเป็นสีดำ

กินยาปฏิชีวนะบางชนิดในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับสารพิษ สารเคมีที่เป็นอันตราย        เช่น ยาฆ่าแมลง

วิธีป้องกัน

ควรทำดีท็อกซ์ กินอาหารชีวจิตสูตรที่ 1 ออกกำลังกายวันละ 15 – 45 นาทีเพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงที่เกิดจากการกินยา ปรับสมดุล และเพิ่มภูมิชีวิต

  1. ลิ้นเป็นฝ้าสีเหลือง

ระบบย่อยอาหาร ลำไส้ และตับทำงานผิดปกติ อาจมีภาวะฮอร์โมนแปรปรวนระวังโรคท้องผูกและโรคริดสีดวงทวาร

วิธีป้องกัน

ควรทำดีท็อกซ์เพื่อขจัดพิษที่ตับ กินผักผลไม้และข้าวกล้อง เพื่อเพิ่มใยอาหาร ขับถ่ายให้เป็นเวลา

ติดตามต่อใน หน้าถัดไป

ตาแป๋ว…สุขภาพปิ๊ง
  1. ตาบวมแดง

ตาอักเสบ เป็นไข้ตัวร้อน ติดเชื้อได้ง่าย ภูมิต้านทานต่ำ

วิธีป้องกัน  ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากๆ นอนหลับให้เพียงพอวันละ 6 – 7 ชั่วโมง ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบเปลือกตา 3 – 5 นาที

  1. ขี้ตาแฉะ เหนียวข้น

เป็นสัญญาณว่าอุณภูมิในร่างกายสูง เนื่องจากความร้อนในการเผาผลาญอาหาร ที่ตับและกล้ามเนื้อ

วิธีป้องกัน  ลดการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกๆดิบๆ น้ำตาล และน้ำอัดลม ควรกินถั่วเขียว แตงกวา น้ำมันมะพร้าว แตงโม หรือชาเก๊กฮวยเพื่อลดความร้อน

  1. เปลือกตาอักเสบบวมช้ำและแดง

เกิดจากมีการสะสมความร้อนมากเกินไป อาจเสี่ยงเป็นโรคท้องผูก ผดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ปวดศีรษะ อ่อนเพลียได้ง่าย

วิธีป้องกัน  นั่งหลับตา 2 นาที จากนั้นลืมตาและกะพริบตาปริบๆ ติดต่อกัน นาทีละ 20 – 25 ครั้ง นาน 3 นาที ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบเปลือกตา 3 – 5 นาที ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากๆ

  1. ตาขาวมีสีแดงเห็นเส้นเลือดแดงชัด

ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หากเป็นนานๆไม่หาย เป็นไปได้ว่าอาจมีอาการติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์

วิธีป้องกัน  ต้องนอนหลับให้เพียงพอวันละ 6 – 7 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงฝุ่นควัน มลพิษ และแสงแดดจ้าๆ ควรสวมแว่นตากันแดด ถ้าจำเป็นต้องอ่านหนังสือ หรือจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ ให้พักสายตาทุก 1 ชั่วโมง

ติดตามต่อใน หน้าถัดไป

ปัสสาวะ – อุจจาระ เพื่อนซี้ ชี้สุขภาพ

เสร็จธุระจากห้องน้ำ อย่าเพิ่งกดชักโครกค่ะ หันไปมองสักนิดว่าของเสียที่ออกจากร่างกายนั้น กำลังส่งสัญญาณเตือนภัยอยู่หรือไม่ เพราะอวัยวะต่างๆในระบบกรองของเสียและระบบขับถ่าย มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้หัวใจเลยทีเดียวค่ะ

เช็คปัสสาวะหาความผิดปกติ

  • ปกติปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองใสๆ ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอน ไม่มีเมือกหรือลิ่มเลือดปน
  • ถ้ามีเลือดหรือหนองปนออกมา มีกลิ่นฉุน แสบร้อนขณะปัสสาวะ และถ่ายไม่สุด รู้สึกปวดอยู่ตลอดทั้งที่เพิ่งเข้าห้องน้ำ อาจเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังและติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์
  • ถ้าพบว่าปัสสาวะมีตะกอนเล็กๆคล้ายก้อนกรวด รู้สึกเจ็บ แสบ และติดขัดขณะถ่าย อาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์
  • ขณะนอนหลับ ปกติแล้วควรปัสสาวะแค่ 1 – 2 ครั้งเท่านั้น หากลุกขึ้นเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์
  • อุจจาระส่อโรค

  • ปกติอุจจาระจะมีลักษณะไม่เหลว ไม่แข็ง และไม่มีลิ่มเลือดปน เป็นสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาลอ่อน
  • ถ้าพบว่ามีลิ่มเลือดเกาะปนมากับอุจจาระเล็กน้อย อาจจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร แต่หากเป็นมากและพบว่าเลือดไหลฉาบมากับก้อนอุจจาระ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ถ่ายบ่อยเกินกว่าวันละ 4 ครั้ง อุจจาระเหลวข้น ไม่จับตัวเป็นก้อน ระวังภาวะอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย และถ้าเป็นต่อเนื่องเกิน 1 – 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
  • ถ้าอุจจาระมีสีขาวหรือสีเหลืองซีดจางมาก อาจเป็นเพราะเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากพบสัญญาณเตือนจากร่างกาย อย่านิ่งดูดาย รีบใส่ใจรักษาก่อนที่จะสายเกินเยียวยาค่ะ เพราะสุขภาพอาจจะไม่รอคำว่า ‘เดี๋ยวค่อยดูแล’

    ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับ 354