Welcome to Lifestyle Zone!

ดูแลตัวเองอย่างไร ห่างไกล โรคหลอดเลือดสมอง

ห่างไกล โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke) คือโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โรคนี้ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน เช่น ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ โดยเป็นอยู่นานมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือเสียชีวิต

จะพูดเสียใหม่ว่า เจ้าโรคนี้คือตัวการของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ทำให้คนตายทั้งเป็นก็ไม่ผิดนัก ยิ่งไปกว่านั้น โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นโรคที่กำลังมาแรงแซงโค้งขึ้นสู่การเป็นโรคอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยทุกวันนี้

เมื่อใครก็มีสิทธิ์เป็นได้ การเรียนรู้สาเหตุ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้าย ก็อาจช่วยชีวิตคุณและคนที่คุณรักได้ทันท่วงที

ปัญหาอะไรบ้างที่จะเปิดประตูให้โรคร้ายนี้เข้ามาจู่โจมเราโดยไม่ทันตั้งตัว

บางปัญหาเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา เช่น “อารมณ์ด้านลบ” ไม่ว่าจะเป็นความเครียด (stress) ความหดหู่ใจ (depress) ความวิตกกังวล (anxiety) เพราะนอกจากจะกัดกร่อนสุขภาพจิตแล้ว ยังมีผลโดยตรงต่อสุขภาพเส้นเลือดสมอง นอกจากนี้การมีชีวิตที่สะดวกสบาย นั่งกิน นอนกิน ไม่สนใจทำกิจวัตรประจำวันใดๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความว่าเป็น “silent killer” หรือเพชรฆาตรเงียบ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ป่วยเป็นสโตรกได้ สุดท้ายคือ วิถีชีวิตปัจจุบัน ทำให้คุณเสี่ยงสโตรก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตคนทำงานแบบไนน์ทูไฟว์ ที่เวลาทำงานจำกัดให้ต้องนั่งประจำโต๊ะตั้งแต่เวลาประมาณ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น การมีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ขาดการกินอาหารที่ถูกต้อง และการขาดการออกกำลังกาย

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่พร้อมจะจุดชนวนให้หลอดเลือดในสมองตีบ-แตกเมื่อไหร่ก็ได้ มาเช็กกันดีกว่าค่ะว่า คุณเข้าข่ายเป็นหนึ่งในบุคคลที่เสี่ยงจะเป็นสโตรกหรือเปล่า ถ้าใช่ อย่านิ่งดูดาย นำวิธีการปรับวิถีชีวิตที่เรานำมาฝากไปใช้ทันที

อารมณ์ดีหนีสโตรก
• คุณเป็นคนที่…ทำงานภายใต้ความกดดันของเวลา คาดหวังสูง ไม่สบอารมณ์สิ่งรอบข้างเป็นประจำ ขุ่นเคือง หงุดหงิด มักโกรธ โมโห เจ็บใจ อาฆาต และพยาบาทหากคุณกำลังมีอารมณ์เช่นที่กล่าวมา คุณกำลังติดบ่วงความเครียด (stress) นายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย สถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงอารมณ์เครียดที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองว่า

“อารมณ์ด้านลบต่างๆ เช่น เครียด ตื่นเต้นตกใจง่าย โมโห วู่วาม ถ้าเป็นบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ เพราะอารมณ์เหล่านี้ ทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงจะนำมาสู่สโตรกได้”

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า คนที่มีปฏิกิริยาทางร่างกายตอบสนองต่อความเครียดมาก เช่น มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมองได้มาก

How to Fix: พยายามพาตัวเองไปอยู่ในสภาวะหรือสถานที่ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายให้เร็วที่สุด อาจใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ช่วยได้ เช่น ใช้กลิ่นหอมบำบัด (aromatherapy)

ในระยะยาวให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับคนสนิท เพราะจะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า เมื่อมีปัญหา นอกจากนี้ควรใช้เวลาว่างกับคนที่รักความสงบ และใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่สุดโต่ง

• คุณเป็นคนที่…กลัวผิดพลาด ชอบคิดถึงอนาคต หนักใจ ร้อนใจ วุ่นวายใจในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ขาดความมั่นใจ ชอบลังเลสงสัย และคลางแคลงใจ อารมณ์ดังกล่าวข้างต้น เป็นที่มาของภาวะวิตกกังวล (anxiety) การศึกษาของ San Francisco VA Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนที่มีภาวะวิตกกังวลมักจะไม่ค่อยดูแลตัวเอง มักจะกินนอนไม่ถูกต้อง และมีแนวโน้มว่าจะสูบบุหรี่ และออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ป่วยเป็นสโตรกได้

• คุณเป็นคนที่…ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีเพื่อนแท้ ไร้ที่พึ่ง หงอยเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือมักรู้สึกเบื่อ ละเหี่ยใจ เอือมระอา ห่อเหี่ยว สิ้นหวัง และหมดอาลัยตายอยาก หากความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งตามที่กล่าวมาเกิดขึ้นบ่อยๆ ความรู้สึกด้านลบดังกล่าว จะนำมาซึ่งภาวะหดหู่ใจ (depress) ซึ่งอารมณ์นี้จะทำร้ายหลอดเลือดไม่เป็นรองใครเช่นกัน ดร. โรเบิร์ต เอ็ม. คาร์นีย์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Washington University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนวัยกลางคนที่มีอาการ ท้อแท้หดหู่ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่อันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า

เมื่อดูแลใจให้เข้าสู่อารมณ์ที่สมดุลแล้ว เดินหน้าไปปรับวิถีชีวิตกันต่อ เริ่มด้วยเรื่องอาหารการกินที่ถูกต้องค่ะ

หน้าถัดไป
อารมณ์ดี ป้องกันสโตรกได้อย่างไร ?

นายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย สถาบันประสาทวิทยา อธิบายว่า อารมณ์ด้านบวกส่งผลดีต่อ 3 ฮอร์โมน

ฮอร์โมนเอ็นดอฟิน เมื่ออารมณ์ดี ผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอฟิน ทำให้หลอดเลือดผ่อนคลาย ยืดหยุ่นดี อวัยวะทุกส่วน ตลอดจนจิตใจทำงานประสานกันเป็นปกติ ฮอร์โมนเมลาโทนิน เมื่ออารมณ์เป็นปกติ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งช่วยให้วงจรการนอนหลับเป็นปกติ ทำให้การไหลเวียนโลหิตดี เนื่องจากหัวใจทำงานเป็นปกติ สมองได้พักผ่อนเต็มที่โกร๊ธฮอร์โมน สภาพอารมณ์และจิตใจที่ดี โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่หรือวัยสูงอายุ ช่วยให้เกิดการหลั่งโกร๊ธฮอร์โมน ซึ่งช่วยรักษาสมดุลในร่างกายให้เป็นปกติ ช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตดี

สำรวจปัจจัยเสี่ยงสโตรก
1. ท่านอายุมากกว่า 40 ปี หรือไม่
2. ท่านเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่
3. ท่านสูบบุหรี่หรือไม่
4. ท่านเป็นเบาหวานหรือไม่
5. ท่านมีระดับไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือไม่
6. ท่านเป็นโรคหัวใจหรือไม่
7. ท่านมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนไม่
8. ท่านมีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน หรือออกกำลังกาย น้อยกว่า 30 นาที ต่อครั้ง น้อยกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์หรือไม่
9. ท่านชอบกินอาหารประเภททอด ของมัน หรืออาหารรสเค็ม หรือไม่
10. ท่านดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มากกว่า 2 แก้ว ต่อวันหรือไม่
11. ท่านมีพ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่

ถ้าท่านตอบว่าใช่ข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่ามีความเสี่ยง ถ้าตอบว่าใช่มากกว่าหนึ่งข้อ แสดงว่ายิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 315