Welcome to Lifestyle Zone!

8 สาเหตุ 7 วิธีแก้บอกลา ตะคริว ถาวร

ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนชรา นักกีฬา หรือสตรีมีครรภ์ …ใครๆ ก็ต้องเสี่ยงกับ ตะคริว กันทั้งนั้น

ปักษ์นี้เราอยากชวนคุณมาเรียนรู้อาการและสาเหตุการเกิด ตะคริว ปัญหาสุขภาพเล็กๆ ที่ความทรมานไม่เล็กแถมยังรบกวนชีวิตประจำวันของคุณ …แถมด้วย 7 หนทางเยียวยาโรคนี้ค่ะ

ตะคริวเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเฉียบพลันและกล้ามเนื้อนั้นเกิดการเกร็งตัว แข็ง คลำได้เป็นก้อน และไม่ยอมคลายตัวออก ทำให้ไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้และมีอาการเจ็บปวด

ตะคริวเกิดกับกล้ามเนื้อได้ทุกมัด ทั้งกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อแขนขา) และกล้ามเนื้อเรียบ (กล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน) อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียว หรือหลายๆมัดพร้อมกันก็ได้ แต่ที่พบส่วนมาก มักเกิดที่กล้ามเนื้อน่อง รองลงมาคือ กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อต้นขา

ปกติตะคริวจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที แต่บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดเป็นชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน แม้ตะคริวจะเป็นอาการที่ไม่มีอันตราย แต่หากเกิดระหว่างขับรถหรือว่ายน้ำ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือมีอันตรายถึงชีวิตได้

ตะคริวเกิดได้กับคนทุกวัย มีโอกาสเกิดทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั้งในผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้สูบบุหรี่จัด แต่พบบ่อยในนักกีฬาที่ออกกำลังหนักหรือมากเกินไป หากเกิดเวลากลางวันจะเป็นช่วงที่ใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ หากเกิดช่วงกลางคืน มักเกิดกับกล้ามเนื้อขา เรียกว่า น็อซทูนอล เลก แครมป์(Nocturnal Leg Cramp)หรือ ไนท์ เลก เครมป์ (Night Leg Cramp)

8 ต้นเหตุตะคริวเล่นงาน

สาเหตุทั่วไปของตะคริวเกิดได้จาก กล้ามเนื้อมัดนั้นๆขาดการยืดตัว (Stretching) อย่างเพียงพอ และมีการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก (Latic Acids) โดยทั้งสองปัจจัยมีสาเหตุมาจาก

1. สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง

2. การใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นเกินกำลัง เช่น เล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือมีการงานอาชีพที่ต้อง ยืน เดิน นานๆ

3. เกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะ เกลือแร่ชนิดโซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียมเสียสมดุล ซึ่งภาวะที่ทำให้เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุลได้แก่มีอาการ ท้องร่วงอาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน เล่นกีฬา หรืออยู่ท่ามกลางอากาศร้อน

4. อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากร้อนเป็นเย็น หรือจากเย็นเป็นร้อน

5. ดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ มักเกิดในผู้สูงอายุ

6. อายุมากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้นเซลล์ทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมถอย ซึ่งรวมทั้งเซลล์กล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงพบอาการนี้ในผู้สูงอายุได้บ่อย

7. ดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เกิดการขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้น ร่างกายและกล้ามเนื้อจึงขาดน้ำ

8. เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับความผิดปกติของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง จึงส่งผลให้ระบบประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลายแข็ง จึงส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด

เป็นโรคจากความผิดปกติทางฮอร์โมน เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ และการใช้ยาฮอร์โมน การใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic syndrome)ผิดปกติเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นโรคตับและโรคไต เพราะทั้งสองอวัยวะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

ป้องกันตะคริวได้อย่างไร

            เรามาดูวิธีป้องกันตะคริวกันค่ะ

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะเวลาเหงื่อออกมาก ร่างกายจะสูญเสียทั้งน้ำและเกลือแร่ ดังนั้น ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร หรือ วันละ 8 แก้ว

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ

3. ฝึกยืดเหยียด(Stretching) โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อยๆการยืดกล้ามเนื้อสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายคลายความตึงล้า และมีความยืดหยุ่น จึงลดโอกาสเกิดตะคริวได้

4. หลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเกินกำลัง เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬาหนัก เมื่อจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานหนัก ควรมีการอบอุ่นกล้ามเนื้อตามวิธีที่ถูกต้องก่อนเสมอ เช่น วิ่งเบาๆประมาณ 10 นาที

5. ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ หากเกิดอาการตะคริวเพราะสูญเสียเหงื่อมากขณะออกกำลังกายอาจจำเป็นจะต้องมีการปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่

6. กินอาหารที่มีวิตามิน และเกลือแร่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อเช่น กล้วย หรือผักผลไม้ชนิดต่างๆ

7. ผู้สูงอายุควรค่อยๆขยับแขนขาอย่างช้าๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศเย็นมากๆ ควรสวมถุงเท้าขณะนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า

       วิธีการที่แนะนำเหล่านี้ ทำตามได้ไม่อยากเลยใช่ไหมคะ ซึ่งจะช่วยให้เราบอกลาอาการตะคริวได้ แถมทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ

 

ชีวจิต Tip

คลายตะคริวแบบทันใจ

หากเกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อน่อง ให้เหยียดเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้น หรือยืนกดปลายเท้าลงบนพื้น งอเข่าและโน้มตัวไปข้างหน้า เมื่อกล้ามเนื้อหายจากอาการเกร็งแล้วให้นวดกล้ามเนื้อโดยใช้ยานวดคลึงเบาๆ หรือประคบด้วยน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการได้โดยเฉพาะหากเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อท้อง

ข้อมูลเรื่อง “8 สาเหตุ 7 วิธีแก้บอกลา ตะคริว ถาวร” จากนิตยสารชีวจิตฉบับที่ … เขียนโดย พ.ญ.สุมาภา ชัยอำนวย