Welcome to Lifestyle Zone!

โยคะบำบัด แก้อาการ ออฟฟิศซินโดรม (1)

หนุ่มสาวออฟฟิศที่โหมกรำงานมากไป อาจมีอาการปวดหลังไหล่ หรือเมื่อยแขนขา เพราะใช้ร่างกายผิดท่าเมื่ออยู่ในที่ทำงาน หรือที่เรียกกันว่า ออฟฟิศซินโดรม อยู่เสมอๆ วันนี้ คุณกาญจนา พันธรักษ์ หรือครูกาญจน์คนเก่ง จะแนะนำท่าโยคะเพื่อแก้อาการเหล่านี้ค่ะ

โยคะเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่ถือกำเนินในประเทศอินเดีย เมื่อหลายพันปีมาแล้ว และนิยมแพร่หลายในเมืองไทย ไม่กี่ปีมานี้คนไทยนิยมออกกำลังกายด้วยโยคะมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะโยคะสามารถบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยปกติแล้วท่าโยคะจะมีการงดเว้นสำหรับบางคนในบางท่า

แต่ท่าที่จะแนะนำในวันนี้ ทุกคนสามารถทำได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์วันละ 6 – 8 ชั่วโมง ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ต้นคอ หัวไหล่ ขาและแขนชา ตามมา รวมถึงคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นน้ำหนักจะถ่วงไปที่หน้าท้อง ทำให้ปวดหลังมากขึ้น และเด็กในครรภ์อาจไปกดทับ ทำให้การหมุนเวียนเลือดไม่สะดวก หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังเช่น กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคดก็ยังสามารถทำได้

อาสนะที่ว่านี้มีชื่อว่า ท่าแมว (Cat pose) และ ท่าวัว (Cow pose) ค่ะ

ซึ่งประโยชน์เพิ่มเติมมีดังนี้

  1. ช่วยคลายอาการปวดหลัง อันเนื่องมาจาก การนั่ง ยืน เดิน หรือนอนนานๆ
  2. ช่วยยืดเหยียดกระดูกสันหลัง และรักษาความยืดหยุ่นของร่างกาย
  3. ช่วยไล่ความเกลียดคร้านในตัวผู้ฝึก
  4. ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง

  1. แอ่นหลังส่วนล่าง กดหน้าท้องลงให้ใกล้พื้นมากที่สุด
  2. ยกกระดูกสะโพกขึ้น (แอ่นสะโพก)
  3. หมุนหัวไหล่ หมุนหัวไหล่ทั้งสองข้างเปิดออก(เพื่อเปิดอก)
  4. ยืดคอ เงยหน้าขึ้น มองตรงไปด้านบน
  1. โก่งหลังขึ้น ให้รู้สึกว่ากำลังยืดกระดูกสันหลัง หลังส่วนกลางโก่งขึ้นไปใกล้กับเพดานด้านบนให้มากที่สุด
  2. ดึงหน้าท้องขึ้นไปให้ติดกับกระดูกสันหลังให้มากที่สุด
  3. แยกสะบักหลังทั้งสองข้างออกจากกัน กดคางชิดอก เหมือนนำหัวไหล่มาชิดใบหูเพื่อยืดสะบักหลัง
  4. ม้วนกระดูกก้นกบ (เหมือนสุนัขที่กำลังกลัว แล้วม้วนหางเก็บเข้ามาหาท้อง)

เทคนิคเมื่อทำความเข้าใจในแต่ละข้อแล้ว ในระหว่างที่ฝึกให้ตั้งสติเราอยู่กับสิ่งที่เราเคลื่อนไหว อาจท่องจำสั้นๆ ว่า

หายใจเข้า 1. โก่งหลัง 2. ม้วนก้น 3. ห่อหัวไหล่ 4. กดคางชิดอก

หายใจออก 1. แอ่นหลัง 2. ยกก้น 3. เปิดหัวไหล่ 4. เงยหน้า

โดยให้นับจังหวะตามวินาที จะให้ความรู้สึกว่าเรากำลังคุยกับร่างกายตัวเอง และกำลังเคลื่อนไหวกายและจิตไปพร้อมกัน เมื่อรวมทั้ง 2 อย่างนี้เข้าด้วยกัน คุณจะรู้สึกผ่อนคลายและฟังเสียงร่างกายตนเองมากขึ้น จะทำซ้ำเป็นเซต ๆ ละ 5 ครั้ง 2-3 เซต (สำหรับผู้ฝึกเบื้องต้น เพราะอาจจะยังสับสนในระหว่างทำอาสนะ) หรือทำเซตเดียว 10 ครั้ง ก็ได้

จากนั้นเราจะพักในท่าเด็ก คือลดสะโพกลงมาหาส้นเท้า หมอบลง เหยียดแขนอย่างสบายๆยืดกระดูกสันหลัง เพื่อคืนกลับมาสู่สภาวะปกติ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต