Welcome to Lifestyle Zone!

ซื้อด่วน! สาหร่ายทะเล ตัวท็อป ตอบโจทย์คนไขมันในเลือดสูง

สาหร่ายทะเล ตัวท็อป ตอบโจทย์คนไขมันในเลือดสูง

สาหร่ายทะเล เป็นอาหารของชาวเอเชียมานานนับพันปี ทั้งเป็นหนึ่งในอาหารประจำวันของชาวโอะกินะวะ จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ที่มีประชากรอายุยืนเกิน 100 ปีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ทราบถึงประโยชน์ จึงแนะนำให้รวมสาหร่ายไว้ในเมนูอาหารประจำวันเช่นกัน

สาหร่ายพวงองุ่น ลดไขมันในเลือด ต้านเบาหวาน 

สาหร่ายทะเลสีเขียว มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเรียงกันเป็นช่อคล้ายพวงองุ่นหรือคล้ายไข่ปลาคาเวียร์ ชาวญี่ปุ่นเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า อุมิบุโด (Umibudo) ส่วนชาวไทยรู้จักในชื่อสาหร่ายช่อพริกไทยหรือสาหร่ายพวงองุ่น

ในต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี นิยมกินสาหร่ายพวงองุ่นมานาน สำหรับประเทศไทยเป็นที่นิยมในจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันออก ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ได้ทำการวิจัยเพาะเลี้ยงและส่งเสริมให้ชาวบ้านขายเป็นอาชีพ

สาหร่ายพวงองุ่น, สาหร่ายทะเล

สาหร่ายพวงองุ่น มีกลิ่นของน้ำทะเลและรสชาติเค็มกว่าสาหร่ายทะเลชนิดอื่นเล็กน้อย นิยมกินร่วมกับอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล ซูชิ มันฝรั่งผสมในสลัดผัก ใช้ปรุงอาหารแทนไข่ปลาคาเวียร์ หรือตกแต่งจานอาหารเพื่อความสวยงามก็ยังได้

ส่วนเรื่องคุณค่าทางโภชนาการนั้น สาหร่ายพวงองุ่น อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินบี 2 วิตามินอี ไอโอดีน แคลเซียมแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และสังกะสี

รายงานจากวารสาร Root Gatherers ซึ่งทำการศึกษากระต่ายที่ได้รับการป้อนอาหารที่มีไขมันสูงและคอเลสเตอรอลสูง ตามด้วยการให้สารสกัดจากสาหร่ายพวงองุ่นนาน 30 วัน พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลร้ายในเลือดลดลง และล่าสุดในปี 2014 วารสาร Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine ค้นพบว่าสาหร่ายพวงองุ่นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิตป้องกันโรคหัวใจล้มเหลว และช่วยต้านมะเร็งอีกด้วย

4 สาหร่ายยอดนิยม อยู่ที่หน้าที่ 2 ค่ะ

รวมสูตรอร่อย 4 สาหร่ายยอดนิยม

สาหร่ายทะเลยอดนิยม ชื่อคุ้นหูอาหารอายุวัฒนะของชาวโอะกินะวะ ที่อยากแนะนำ ได้แก่ คอมบุ (Kombu) วากาเมะ (Wakame) โนริ (Nori) และโมซุกุ (Mozuku)

สาหร่ายคอมบุ 

มีสีน้ำตาล นิยมนำมาตากแห้ง รีด แล้วตัดเป็นแผ่นมีกลิ่นรสของทะเลแรง และมีไอโอดีนสูง ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำดาชิ (Dashi) สารปรุงรสอร่อยหรือรสอุมามิของอาหารญี่ปุ่น นับเป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานที่ทำให้น้ำซุปและอาหารหลายชนิดมีรสชาติกลมกล่อม

คอมบุ, สาหร่ายทะเล

สาหร่ายวากาเมะ 

มีสีน้ำตาลรสชาติจืด แต่เมื่อแช่น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว นิยมใส่สาหร่ายวากาเมะในซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น (Miso Soup) ร่วมกับเต้าหู้ขาว นอกจากนี้ยังใส่ในเมนูโซบะ (Soba Noodle Dishes) สลัดผัก ปรุงเป็นยำสาหร่าย หรือผัดกับข้าวไม่ขัดสี

วากาเมะ , สาหร่ายทะเล

สาหร่ายโนริ 

มีสีเขียวเข้มจนถึงสีดำ มีทั้งชนิดแผ่นและผง ชนิดแผ่นมีลักษณะบางกรอบ นิยมนำมาย่าง ใช้ห่อซูซิ (Sushi) หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว เป็นสาหร่ายปรุงรสในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรุงรสที่ทำจากผงสาหร่ายโนริผสมกับเครื่องเทศ นิยมโรยบนข้าวและอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ

โนริ, สาหร่ายทะเล

สาหร่ายโมซุกุ 

มีสีน้ำตาล นิยมกินสดๆ กินคู่กับซอสถั่วเหลือง ใส่ในสลัดผัก หรือนำมาดองในน้ำส้มเนื้อสัมผัสคล้ายวุ้นเส้น เหนียวนุ่มกรอบกรุบเวลาเคี้ยว ปัจจุบันเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวโอะกินะวะ และมีแนวโน้มที่จะผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออก

สำหรับประโยชน์ของสาหร่ายทั้ง 4 ชนิด สรุปไว้ใน Journal of the American College of Nutrition ในงานวิจัยชื่อ The Okinawan Diet : Health Implications of a LowCalorie, Nutrient Dense, Antioxidant Rich Dietary PatternLow in Glycemic Load กล่าวโดยสรุปคือ สาหร่ายทั้ง 4 ชนิดให้พลังงานต่ำมาก แต่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งโปรตีน ไอโอดีน โฟเลต แมกนีเซียม เหล็ก แคลเซียม และฟูโคแซนทิน (Fucoxanthin) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid)

ฟูโคแซนทินช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และมีส่วนช่วยในการรักษาโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งพบในผู้มีเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง และมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตรในผู้ชาย ที่มีระดับน้ำตาล ความดัน และไขมันในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือดในสมองอุดตัน

นอกจากนี้ยังพบฟูคอยแดน (Fucoidan) ปริมาณมากในสาหร่ายคอมบุและสาหร่ายวากาเมะ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีสารแอนติออกซิแดนต์สูงช่วยลดความเสี่ยงสารพัดโรคร้าย รวมถึงโรคมะเร็ง โดยมีรายงานระบุว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในคนได้ ปัจจุบันนิยมนำฟูคอยแดนมาผลิตเป็นอาหารเสริมในหลายผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น

กินสาหร่ายทะเลแล้วอายุยืน ช่วยป้องกันสารพัดโรคร้าย ชาวโอะกินะวะพิสูจน์มาแล้วหลายชั่วอายุคน แถมมีงานวิจัยมาช่วยการันตี นาทีนี้ไม่กินตามกระแสไม่ได้แล้วค่ะ

จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 414 (1 มกราคม 2559)

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แกงจืด สาหร่าย หัวไช้เท้า ช่วยลดไขมันในเลือด

สารพันเมนูอร่อยจาก “สาหร่าย” พืชมากประโยชน์ใต้ท้องทะเล

ยำสามกรอบสาหร่ายโนริ

คนญี่ปุ่น สาหร่ายทะเล อายุยืน โรคไขมันในเลือดสูง