Welcome to Lifestyle Zone!

สมุนไพร ในที่ทำงาน

สมุนไพร ในที่ทำงาน

เรากำลังจะแนะนำการนำ สมุนไพร มาใช้ที่ทำงานในลักษณะต่างๆ เพื่อปรับสมดุลร่างกาย และเยียวยาอาการเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทำงานค่ะ

ทำไมจึงควรใช้สมุนไพร

รองศาสตราจารย์พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เหตุผลถึงข้อดีของการใช้สมุนไพรในที่ทำงานว่า

“การใช้สมุนไพรมีข้อดีตรงที่ไม่ใช่สารเคมี จึงไม่สร้างมลภาวะรอบตัวเราในแง่ของสุขภาพ เราสามารถนำสมุนไพรมาดัดแปลงใช้ได้หลายแบบง่ายที่สุดคือกินเป็นอาหาร สมุนไพรหลายชนิดมีสารที่ช่วยให้สุขภาพดีนอกจากนี้ยังรักษาโรคได้ด้วย

สมุนไพร

“ยิ่งตอนนี้เราก็มียาแคปซูลแผนโบราณที่มีคุณสมบัติดี และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากมาย ซึ่งค่อนข้างหลากหลาย พอนำมาใช้ในที่ทำงานก็ทำให้การกินอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติพอเพียง ส่งผลให้ชีวิตในด้านอื่นๆ ดีขึ้น”

ใช้สมุนไพรอย่างไร

เราสามารถนำสมุนไพรมาใช้ในที่ทำงานในลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

  1. กินสมุนไพร

ปัจจุบันนี้มีแคปซูลยาสมุนไพรที่พกพาสะดวกหากมีไว้ติดโต๊ะทำงานก็ช่วยแก้ไขอาการป่วยเบื้องต้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องรีบไปหาหมอ สมุนไพรที่แนะนำได้แก่

  • ฟ้าทลายโจร (แคปซูล)
  • ประโยชน์ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ท้องเสีย และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

    วิธีใช้ กินขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 – 3 เม็ดก่อนหรือหลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น

  • ขมิ้นชัน (แคปซูล)
  • ประโยชน์ ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ

    วิธีใช้ กินขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 – 3 เม็ดหลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น

    ขมิ้น

  • ยาธาตุบรรจบ (ลูกกลอน)
  • ประโยชน์ แก้ท้องเสียและลำไส้แปรปรวน

    วิธีใช้ กินครั้งละ 5 เม็ด หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็นอาจกินร่วมกับขมิ้นชัน (3 เม็ด) เพื่อปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ในระยะยาวได้

  • ยาอมสมุนไพรมะขามป้อม
  • ประโยชน์ มีวิตามินซีสูง แก้ไอและขับเสมหะ

    วิธีใช้ อมครั้งละ 2 – 3 เม็ดเมื่อมีอาการไอ หรือหากดื่มน้ำอุ่นตามขณะอมจะช่วยให้ขับเสมหะได้ดี

    คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

    1. ดื่มชาสมุนไพร

    การดื่มเครื่องดื่มชาสมุนไพรอุ่นๆ ระหว่างทำงานเหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานในห้องแอร์อย่างมากเพราะช่วยกระตุ้นให้การหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น และช่วยแก้อาการบางอย่างได้ดี เช่น

  • ชาคาโมมายล์
  • ประโยชน์ สถาบันอิมพีเรียลคอลเลจ ประเทศอังกฤษโดย ดร.เอลีน โฮล์มส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ตีพิมพ์ผลวิจัยประโยชน์ของชาคาโมมายล์ลงใน วารสารสมาคมเคมีการแพทย์อเมริกัน เดือนมกราคม 2548 ว่า ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันลดอาการปวดประจำเดือน ผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการกระวนกระวาย

    วิธีดื่ม ชงชาคาโมมายล์ 1 ซองกับน้ำร้อน 1 แก้ว ค่อยๆ จิบจนหมด แล้วเติมน้ำเพิ่ม ดื่มได้อีกจนกว่าสีและกลิ่นจะจางลง

    ชา

  • ชาเปปเปอร์มินต์
  • ประโยชน์ บรรเทาอาการเป็นหวัดคัดจมูก และเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า

    วิธีดื่ม ชงชาเปปเปอร์มินต์ 1 ซองกับน้ำร้อน 1 แก้ว ควรเปิดแก้วใส่ชาเพื่อให้กลิ่นเปปเปอร์มินต์ ระเหยออกมา ก่อนดื่มควรสูดดมกลิ่นก่อนแล้วค่อยๆ จิบ

  • น้ำขิง
  • ประโยชน์ ขับลม กระตุ้นการทำงานของลำไส้ บรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง และป้องกันการเกิดแผล ในกระเพาะอาหาร

    วิธีดื่ม ชงขิงผง 1 – 2 ช้อนชากับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มเมื่อมีอาการ

    คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

    1. สเปรย์อโรมา

    การใช้สเปรย์อโรมากำลังเป็นที่นิยมในที่ทำงานมากกว่าการจุดเตาน้ำมันหอมระเหยเนื่องจากที่ทำงานมักมีการติดตั้งสัญญาณไฟไหม้ การสร้างบรรยากาศด้วยสเปรย์จึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วทันใจกลิ่นที่เหมาะใช้ในที่ทำงาน ได้แก่

  • กลิ่นโรสแมรี มะกรูด และยูคาลิปตัส ช่วยลดเชื้อไวรัสบางชนิด และแก้คัดจมูก
  • กลิ่นมะลิและพุด? ช่วยให้จิตใจชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ
  • กลิ่นลาเวนเดอร์ คลายเครียดและมีความสุขกับการทำงาน
  • วิธีใช้ รองศาสตราจารย์พร้อมจิตแนะนำวิธีใช้สเปรย์อโรมาว่า “ควรฉีดสเปรย์แต่พอดี อย่าใช้ในปริมาณมาก ไม่ควรฉีดใกล้จมูกเกินไป เพราะจมูกจะปะทะกับกลิ่นโดยตรง ควรเปิดประตูและหน้าต่างห้องทำงานหลังฉีดสเปรย์ และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นครั้งคราว เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความสะอาด

    น้ำหอม

    “นอกจากนี้ ก่อนใช้สเปรย์ควรถามไถ่เพื่อนร่วมงานก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ชอบกลิ่นสเปรย์ชนิดใดหรือไม่ เพราะเรื่องความหอมเป็นเรื่องความชอบเฉพาะตัว

    1. ปลูกพืชสมุนไพร
  • เตยหอม เป็นพืชใบที่ปลูกง่าย สามารถปลูกในกระถางได้นำมาใช้ประโยชน์ในการทำอาหารหลายประเภท ต้มเป็นเครื่องดื่มและนิยมนำกลิ่นมาปรับอากาศ
  • ประโยชน์ กลิ่นของใบเตยช่วยบำรุงหัวใจ ดับพิษไข้ และบำรุงกำลัง

    วิธีใช้ ปลูกเตยหอมต้นเล็กๆ วางไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้องทำงาน เตยหอมจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งชื่นใจ หรือตัดใบเตยขยี้หรือหั่นฝอยวางไว้ในห้อง กลิ่นจะหอมนานยิ่งขึ้น

    คลิกเลข 4 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

  • ตะไคร้หอม มีลักษณะคล้ายตะไคร้บ้าน แต่ใบยาวกว่าและลำต้นมีสีแดง
  • ประโยชน์ ไล่ยุงและแมลงต่างๆ

    วิธีใช้ ปลูกใส่กระถางตั้งไว้บริเวณหน้าห้องทำงาน เมื่อต้องการไล่ยุงหรือแมลงอาจตัดใบมาขยี้หรือ ทุบให้น้ำมันที่ใบระเหยส่งกลิ่นออกมา

  • ใบสะระแหน่ญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายสะระแหน่ไทย แต่มีเมนทอลค่อนข้างสูงกว่า และมีรสเผ็ดร้อนน้อยกว่า
  • ประโยชน์ ช่วยดับกลิ่นปาก และปลูกเป็นไม้ประดับสวยงามได้

    วิธีใช้ ปลูกใส่กระถางดินวางไว้บนโต๊ะทำงาน เมื่อต้องการใช้ดับกลิ่นปากสามารถเด็ดใบมาเคี้ยว 1 – 2 ใบ อมไว้ประมาณ 1 นาทีและคายออก จะช่วยดับกลิ่นปากได้

    ว่านหางจระเข้

  • ว่านหางจระเข้ เป็นพืชพิเศษที่เราอยากแนะนำให้ปลูกไว้ในห้องทำงาน
  • ประโยชน์ รองศาสตราจารย์พร้อมจิตกล่าวถึงสรรพคุณของว่านหางจระเข้ว่า “ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แล้วปล่อยออกซิเจนออกมาตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน จึงช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ทาแก้น้ำร้อนลวกได้อีกด้วย”

    วิธีใช้ ตั้งกระถางว่านหางจระเข้ไว้บนโต๊ะทำงานหรือภายในห้องทำงาน เพียงเท่านี้อากาศภายในห้องทำงานก็จะหมุนเวียนดีขึ้นและเมื่อต้องการบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากน้ำร้อนลวกอาจตัดว่านหางจระเข้ 1 กาบ ล้างยางออกให้สะอาด แล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการได้ทันที

    วิธีการปลูกและการดูแล ว่านหางจระเข้เป็นไม้ทะเลทรายจึงต้องการน้ำไม่มากนัก สามารถปลูกใส่กระถางดินได้ เมื่อต้นแตกแขนงออกควรตัดแต่งกาบบางส่วน ต้นจะสวยงามขึ้น และควรรดน้ำเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้งเท่านั้น

    บางครั้งขณะที่เราทำงานอาจมีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นการดูแลตัวเองด้วยสมุนไพรที่มีไว้ใกล้ตัวจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากยิ่งขึ้นค่ะ

    ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 267