Welcome to Lifestyle Zone!

HOW TO กินอาหารน้ำตาลต่ำช่วยป้องกันไขมันพอกตับ

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักเสี่ยงเกิดภาวะ ไขมันพอกตับ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. ศิวะพร ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ไขมันพอกตับ คือ ภาวะที่มีไขมันโดยเฉพาะไตรกรีเซอไรด์ (triglyceride) อยู่ในเซลล์ตับ พบในบุคคลที่ดื่มสุรา บุคคลที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกจากนี้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะไขมันพอกตับสูง คือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการ มีเพียงบางรายที่มีอาจปวดแน่นชายโครงข้างขวา

ไขมันพอกตับ

เรามีงานวิจัยและวิธีป้องกันภาวะไขมันพอกตับมาแนะนำ

เมื่อสงสัยว่า เครื่องดื่มรสหวานมีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) และโรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเก็บข้อมูลของผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับประมาณ 5908 คน เพื่อศึกษาความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมผสมน้ำตาลเทียม

จากการสังเกต สามารถแบ่งผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มรสหวานน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 แก้ว ถึงเดือนละ 1 แก้ว กลุ่มที่ดื่มน้อยกว่าวันละ 1 แก้ว ถึงสัปดาห์ละ 1 แก้ว และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ที่ดื่มมากกว่าวันละ 1 แก้ว

ผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of hepatology ซึ่งรายงานว่า ความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มรสหวานมีความสัมพันธ์กับระดับแอลละนิน ทรานอะมิเนส (Alanine Transaminase)ในเลือดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่าตับมีการอักเสบหรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีภาวะไขมันสะสมในตับ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า อาหารที่มีน้ำตาลต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ มีผลต่อการลดไขมันร้ายเช่น ไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่สะสมในตับ และเพิ่มระดับไขมันดีเอชดีแอลซึ่งช่วยนำไขมันร้ายในเลือดไปกำจัดที่ตับอีกด้วย

คลิกอ่านต่อได้ที่หน้าถัดไป

Diet Tips

การลดปริมาณน้ำตาลในอาหารจึงเท่ากับช่วยลดการอักเสบ ลดการสร้างไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และลดการสะสมไขมันในตับได้

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินน้ำตาลเติมไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน และจะยิ่งดีต่อสุขภาพหากกินน้ำตาลน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน

ฉะนั้น หากกินอาหารประจำวันให้ได้รับพลังงานตามคำแนะนำของ ธงโภชนาการ (เผยแพร่โดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)  ใน 1 วัน แต่ละช่วงอายุควรกินน้ำตาลเติมไม่เกินปริมาณที่กำหนด (คิดจากปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา หนัก 5 กรัม) ดังนี้

เด็กอายุ 6 – 13 ปี หญิงวัยทำงานอายุ 25 – 60 ปี ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 4 – 8 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน 1,600 กิโลแคลอรี)

 วัยรุ่นหญิง – ชาย อายุ 14 – 25 ปี ชายวัยทำงานอายุ 25 – 60 ปี ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 5 – 10 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน  2,000 กิโลแคลอรี)

หญิง – ชาย ที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา ควรกินน้ำตาลเติมไม่เกิน 6 – 12 ช้อนชา (ความต้องการพลังงานต่อวัน 2,400 กิโลแคลอรี)

ไขมันพอกตับ

เพราะน้ำตาลให้แต่พลังงานส่วนเกิน ไม่มีสารอาหาร แถมเมื่อเข้าสู่ร่ายกายยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรค ยิ่งกินน้อย จึงยิ่งดีต่อร่างกาย

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 423