Welcome to Lifestyle Zone!

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

ฝนหลวง ทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ

“ทำด้วยความสุจริตใจ พยายามทำความดีเพื่อส่วนรวม รักษาตัวเองไว้เป็นกลาง ไม่กลัวคำวิจารณ์ ในไม่ช้าความดีจะมาถึงตัว”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จากบันทึกส่วนตัวของหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล

พลังแห่งความเชื่อมั่นศรัทธาเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะนำพาให้ทุกสิ่งสำเร็จสมประสงค์ได้ ด้วยพลังแห่งความเชื่อมั่นนี้เองที่เปลี่ยนผืนดินแห้งแตกระแหงคล้ายทะเลทรายในภาคอีสาน ให้กลับชุ่มชื้นและมีชีวิตเป็นพลังที่กอบรวมเมฆบนท้องฟ้าให้กลั่นตัวลงมาเป็นหยาดฝนหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทย และเป็นพลังที่หลอมรวมบุคคลที่มีความสามารถจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาอุทิศตนทำงาน โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยหรือแม้กระทั่งชีวิตของตน

จึงก่อเกิดเป็น โครงการพระราชดำริฝนหลวง ที่มีเรื่องราวสืบเนื่องยาวนานนับครึ่งศตวรรษ

ฝนหลวง

นาวาอากาศเอก มนูญ รู้กิจนา ผู้อำนวยการกองปฏิบัติกิจพิเศษ กรมยุทธการทหารอากาศ กล่าวว่า

“โครงการพระราชดำริฝนหลวงเกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชนอันเกิดจากความแห้งแล้ง โดยมีพระราชดำริภายหลังจากที่เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานในปี พ.ศ. 2498 ว่า

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคเป็นที่รู้กันว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้าและเห็นว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นถูกลมพัดผ่านไป

“วิธีแก้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำฝนเทียม”

ทั้งยังทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทยจะทำให้เกิดฝนได้แน่ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริดังกล่าวแก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ด้านการเกษตรที่มีชื่อเสียง เพื่อดำเนินการศึกษาและหาแนวทางปฏิบัติ

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงใช้เวลาถึง 14 ปี ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำฝนเทียมจากเอกสารและตำราวิชาการต่าง ๆ ประกอบกับข้อมูลที่ทรงบันทึกไว้ขณะเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรทั้งยังทรงศึกษาทดลองด้วยพระองค์เองร่วมกับคณะทำงานทำให้ได้สูตรสารเคมีในการทำฝนที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทยและกระบวนการทำฝนเทียม ซึ่งหลักสำคัญอยู่ที่ความชื้น อุณหภูมิ รวมทั้งความเร็วและทิศทางลม ก่อนจะทำฝนจึงต้องศึกษาปัจจัยเหล่านี้ให้ดี

ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสาธิตการทำฝนเทียมแก่คณะผู้แทนนักวิทยาศาสตร์จากสิงคโปร์ที่มาขอเยี่ยมชม ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงบัญชาการด้วยพระองค์เอง ผลการสาธิต คือ สามารถบังคับให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายคืออ่างเก็บน้ำได้อย่างแม่นยำ

ฝนหลวง

นับเป็นผลจากพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์โดยแท้

คุณประภาพร ศรีสถิตย์ธรรม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันโครงการฝนหลวงเป็นความรับผิดชอบของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุน ทั้งกองทัพอากาศ กองบินตำรวจ กองทัพเรือกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย”

ภารกิจหลักคือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง ช่วยเติมน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน โดยรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างหนักและเสียสละ แต่มีความภูมิใจที่ได้ทำงานถวายพระองค์ท่าน ได้เห็นพระวิริยอุตสาหะของพระองค์แล้ว เป็นกำลังให้เราไม่ท้อ” นาวาอากาศเอก มนูญ กล่าว

เมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำเกษตรกรรมได้ผลมีอาชีพที่มั่นคง ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและเคารพรักพระองค์ท่านในฐานะที่พระองค์เหมือนได้มอบชีวิตใหม่แก่พวกเขา

จึงได้ประจักษ์ว่า ด้วยน้ำพระราชหฤทัยนี้เอง ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมานานกว่า 60 ปี

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 375 (16 พฤษภาคม 2557)

เครดิตภาพ : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

บทความน่าสนใจอื่นๆ

น้ำพระราชหฤทัยล้นเอ่อ ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

แหลมผักเบี้ย โครงการจัดการน้ำเสียและขยะในพระราชดำริ

ชั่งหัวมัน ปาฏิหาริย์แห่งผืนดินจากน้ำพระราชหฤทัย