Welcome to Lifestyle Zone!

บรรเทาโรคเอสแอลอีด้วยการดูแลตัวเอง

โรคเอสแอลอี

จากประสบการณ์ของตัวเอง เดิมดิฉันมีปัญหาเรื่องปวดข้อนิ้วมือตอนกลางคืนถึงเช้าบ่อยๆ ถึงขนาดเคยสงสัยว่าตัวเองจะเป็น “ โรคเอสแอลอี ”

เมื่อเริ่มรำกระบองทุกท่าสักสัปดาห์หนึ่ง อาการที่เป็นมาเป็นปีก็ดีขึ้น และเมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ พบว่าอาการปวดนั้นหายแล้ว

…ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปาฏิหาริย์ใดๆ แต่เป็นเพราะการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีนั่นเอง

เช่นกันกับหลายโรค หรือจะเรียกว่าทุกโรคเลยก็ได้ หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างดี โรคที่ว่าร้ายนักร้ายหนาก็บรรเทา หรือไม่ก็หายได้อย่างมหัศจรรย์

ไม่เว้นแม้แต่โรคเอสแอลอี (SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่เราคุ้นหูในชื่อโรคพุ่มพวง โรคร้ายไร้สาเหตุไร้เชื้อโรค แต่ก่ออาการรุนแรง คร่าชีวิตผู้ป่วยไปนักต่อนัก

หากแต่ประสบการณ์ของผู้ป่วยเอสแอลอีทั้งสามคนที่มาเล่าให้ฟังช่วยสะท้อนการบรรเทาโรคด้วยวิธีง่ายๆ…ดูแลตัวเอง

อย่ารอช้า ไปฟังพวกเธอกันเลยค่ะ

โรคเอสแอลอี

บอกตัวเองไม่ให้ป่วย…ช่วยได้

คุณเชื่อเรื่องจิตสั่งกายไหมคะ จิตบอกว่ากายป่วย โรคที่เป็นก็ทรุดลงเรื่อย ตรงกันข้าม จิตบอกว่ากายไม่ป่วย โรคที่ใครๆ ต่างส่ายหน้ายอมแพ้เพราะคิดว่าแก้ไขอะไรไม่ได้ กลับหยุดก่ออาการให้รำคาญใจซะอย่างนั้น

คุณวิไลลักษณ์ ฐิติพลดำรง วัย 39 ปี จะเล่าเรื่องมหัศจรรย์ของ “จิตสั่งกาย” ให้ทราบกันค่ะ

เธอเริ่มป่วยด้วยโรคเอสแอลอีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว “อยู่ดีๆ ก็เหนื่อยเพลียมาก ไม่มีแรงทำงานโดยไม่รู้สาเหตุ มาทำงานที่ออฟฟิศก็ต้องขอเวลานอน คือจะง่วงนอนตลอดเวลา นอนไปปุ๊บก็จะรู้สึกสดชื่น

แต่แป๊บเดียว แล้วก็กินไม่ได้ เดินไม่ได้ เดินไปนิดหนึ่งก็เหนื่อยน้ำหนักลดลงเยอะ มากกว่า 5 กิโลกรัมในเดือนเดียว แต่ไม่มีไข้

“ที่ผิวหนังก็มีรอยเขียวๆ เหมือนโดนอะไรทุบ แถมปวดกระดูกสันหลังมากและปลายนิ้วเจ็บเหมือนถูกตอก ตอนนั้นแก้ปัญหาด้วยการเอามือแช่ในน้ำอุ่น หรือไม่ก็จับอะไรร้อนๆ ตลอดเวลา”

เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรมาก คุณวิไลลักษณ์รออยู่เป็นเดือนกว่าจะไปหาหมอ ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอสแอลอีและมีการอักเสบที่ระบบเลือด ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ

“เกล็ดเลือดต่ำมากจะทำให้เพลียมาก รอยเขียวๆ ที่ผิวหนังหมอบอกว่าเป็นเพราะมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ที่เจ็บปลายนิ้วนั้นเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยตีบและเลือดมาเลี้ยงไม่ได้”

เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเอสแอลอีรายอื่นๆ คุณหมอรักษาด้วยยา ซึ่งในกรณีของคุณวิไลลักษณ์ เธอต้องกินยาในปริมาณสูงมากๆ มากกว่า 10 เม็ดต่อวัน ส่งผลให้เธอได้รับผลข้างเคียงจากยาในเวลาอันรวดเร็วราวสองเดือนหลังจากเริ่มกินยา

“พอกินเยอะๆ จะรู้สึกใจไม่สงบ กระวนกระวาย หงุดหงิดงุ่นง่านนอนไม่หลับทั้งวันทั้งคืน หน้าบวม ตัวบวมฉุ”

ในรายของคุณวิไลลักษณ์ หลังจากกินยาสักพักเกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้น หมอก็จะลดยาลง แต่เมื่อใดก็ตามที่ตรวจพบว่าเกล็ดเลือดต่ำอีก หมอก็จะสั่งยาในปริมาณมากขึ้นอีก ซึ่งเธอก็ต้องเผชิญหน้ากับผลข้างเคียงของยาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ซึ่งเธอไม่ชอบใจนัก โดยเฉพาะอาการดังกล่าวทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

“ช่วงที่มีอาการหมอจะตรวจพบว่าเกล็ดเลือดต่ำ ต้องกินยาอีก ซึ่งกินทีก็ต้องกินติดต่อกันนานเป็นปีกว่าเกล็ดเลือดจะสูงและลดยาได้ และเราพบว่าเกล็ดเลือดของเรามันขึ้นลงตามปริมาณยา ไม่ได้สเตเบิ้ล(stable – คงที่) ด้วยตัวมันเอง”

เธอจึงเบื่อ ประกอบกับอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุดท้ายด้วยความใจเด็ด คุณวิไลลักษณ์หันหลังให้ยา แล้วกลับมาดูแลตัวเองด้วยแนวทางชีวจิตอย่างเข้มข้น

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

โรคเอสแอลอี

วิธีการของคุณวิไลลักษณ์คือ

  1. หักดิบอาหารที่กิน (จากอาหารตามใจปาก เช่น หมู เนื้อย่างเกรียมๆ ของทอดเยิ้มๆ น้ำอัดลม เค้ก ช็อกโกแลต ก๋วยเตี๋ยวปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำส้ม พริกป่น อย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ) มาเป็นชีวจิตอย่างเข้มข้นข้าวกล้อง ผัก ปลา น้ำซุปก็ต้องเป็นซุปที่ทำเอง

เพราะงานยุ่งตลอดเวลา หากเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้วฉะนั้นทุกวันหยุดเธอจึงทำอาหารชีวจิตเป็นแพ็คใส่ตู้เย็นไว้จนครบทุกมื้อ ทุกวันทำงาน  เมื่อถึงเวลาทานจึงนำมาอุ่น

  1. เมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือเพลีย เธอจะคั้นน้ำเอนไซม์ (ด้วยเครื่องคั้นแยกกาก) ดื่ม โดยดื่มวันละ 2 แก้ว เช้า – เย็น และผักผลไม้ที่ใช้นั้นจะหลากหลาย ไม่ค่อยให้ซ้ำกัน
  2. ต้มน้ำอาร์.ซี.ดื่มเกือบทุกวัน
  3. ทำดีท็อกซ์สองเดือนครั้ง
  4. ตื่นเช้ารำกระบองเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนมาทำงาน
  5. ไม่เครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  6. ฝึกวิปัสสนาและทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ
  7. เลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นโรค เช่น แสงแดด หรือที่ที่มีผู้คนแออัด

คุณวิไลลักษณ์เล่าว่า “เลิกกินยามาหลายปีแล้ว ถามว่าเกล็ดเลือดสูงไหม ก็ไม่เคยถึงแสน แค่ 7 – 8หมื่น แต่เราเลือกไม่กินยาเพราะบางทีไปหาหมอ คือหมอให้ไปเองทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือนเกล็ดเลือดเหลือ 5 หมื่น หมอจะสั่งยา แต่เราก็บอกไม่ต้อง

โรคเอสแอลอี

“เราคิดว่ารู้จักตัวเองดี เพราะบางช่วงรู้สึกเหนื่อยหลังตื่นนอนตอนเช้า ก็จะรู้แล้วว่าเกล็ดเลือดต่ำ ไปหาหมอ ผลเกล็ดเลือดก็ต่ำอย่างที่เข้าใจจริงๆ ช่วงนั้นก็จะรีบหันมาเข้มงวดกับการกิน การพักผ่อน ออกกำลังกาย และพยายามไม่เครียด”

จิตสั่งกายของคุณวิไลลักษณ์จึงไม่มีอะไรซับซ้อนหรือลึกล้ำเกินเหตุและผล แค่จิตมีความตั้งมั่นที่จะไม่ยอมให้ตัวเองป่วย จึงสั่งให้กาย (ซึ่งหมายรวมถึงการกระทำ) ไปปรุงอาหารสุขภาพ คิดเมนูใหม่ไม่ซ้ำเดิม และมีความสุขกับการปรุงและการกินเมนูเพื่อสุขภาพเหล่านั้น แถมจิตยังสั่งกายให้ลุกขึ้นออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเหนื่อยเพลียจากงานในออฟฟิศแค่ไหนก็ตาม รวมถึงวันหยุดยาว จิตก็สั่งกายให้เคลียร์งานทุกอย่าง เข้าวัดวิปัสสนา ซึ่งนอกจากจิตใจตัวเองจะปลอดโปร่งแล้ว เพื่อนร่วมงานก็ได้รับบุญที่เธอแบ่งให้กันถ้วนหน้า

“ตอนแรกที่เป็นโรคนี้เราบอกตัวเองว่าเราป่วย เราน่าสงสาร เพื่อนดูแลฉันหน่อย แฟนต้องดูแลฉันนะ แล้วก็ป่วยมากขึ้นจริงๆ ด้วย แต่ตอนหลังมานี้บอกตัวเองว่าเราไม่ป่วย เราก็ไม่ได้เป็นอะไรจริงๆ”

เธอทิ้งท้ายเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคน ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย

รู้จักโรคเอสแอลอี

โรคเอสแอลอี (SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดอาการอักเสบโดยไม่สามารถหาสาเหตุได้คำว่า “Lupus” เป็นภาษาละติน หมายถึงหมาป่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความลึกลับจึงนำมาใช้กับโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ ส่วน“Systemic” คือ ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านเซลล์ตามระบบต่างๆ ก่อให้เกิดอาการอักเสบ และ “Erythematosus” หมายถึงแดง ใช้บรรยายอาการอักเสบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า อาการอักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยบ้านเรา ได้แก่ การอักเสบที่ผิวหนังทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งมีผื่นหลายแบบ บางแบบก็เป็นลักษณะเฉพาะของโรคเอสแอลอีเอง เช่น ผื่นรูปผีเสื้อ หรือผื่นวงกลมๆ แล้วก็มีผิวหนังอักเสบ ผิวหนังตายบริเวณกลางๆ หรือเกิด การอักเสบของข้อ คือมีอาการข้ออักเสบ ข้อบวม

อาการไตอักเสบ คนไข้จะมีอาการบวม เนื่องจากเมื่อมีการอักเสบที่ไตทำให้โปรตีนไข่ขาวที่มีอยู่ในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับโปรตีนไข่ขาวในเลือดลดลงจนไม่สามารถอุ้มสารน้ำเอาไว้ในเส้นเลือดได้ สารน้ำจึงรั่วออกมาจากเส้นเลือดมาอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดอาการบวมได้ ถ้านั่งห้อยเท้าหรือยืนก็บวมเท้า นอนก็บวมหลัง

นอกจากนี้ยังมี การอักเสบของระบบประสาท ระบบเลือด โดยภูมิคุ้มกันจะทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำลงเกล็ดเลือดต่ำลง หรือมีภาวะเลือดจางจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีที่พบบ่อยที่สุดคือผู้หญิงอายุระหว่าง 20 – 30 ปี โดยโรคนี้มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่าแปลว่าผู้ป่วย 10 ราย จะพบผู้หญิง 9 รายและผู้ชาย 1 รายเท่านั้น

โรคเอสแอลอีเกิดขึ้นได้กับคนทุกชาติ แต่จากการสำรวจพบว่าคนในทวีปเอเชียมีโอกาสเป็นโรคเอสแอลอีมากกว่าคนในทวีปยุโรปหรืออเมริกา และคนผิวดำเป็นมากกว่าคนผิวขาว นอกจากนี้แล้ว โรคที่เกิดในคนเอเชียจะมีความรุนแรงมากกว่าคนผิวขาว และเฉพาะในทวีปเอเชียพบว่ามีผู้ป่วย 70 – 100 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือ 0.07 เปอร์เซ็นต์

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

โรคเอสแอลอี

ไม่ดูแลตัวเอง…หมอเก่งแค่ไหน โรคก็ไม่ทุเลา

เชื่อว่าหมอทุกคนไม่ได้อยากเลี้ยงไข้ ปล่อยให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานเรื่อยไป

แต่การจะหายจากโรคที่เป็นนั้น หลายโรคโดยเฉพาะเอสแอลอีผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการรักษา หรืออย่างน้อยก็ปฎิบัติตัวเพื่อสุขภาพเพื่อให้การรักษาได้ผลดี ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เพื่อตัวผู้ป่วยเอง

คุณอรกัญญา สีตา วัย 37 ปี เรียนรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของตัวเอง

เธอเริ่มป่วยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เริ่มจากการมีผื่นขนาดเล็กๆ ขึ้นที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง จึงไปหาหมอในโรงพยาบาลเก่าแก่ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งเบื้องต้นคุณหมอเข้าใจว่าเป็นโรคผิวหนัง จึงให้ครีมมาล้างหน้าเท่านั้น

การรักษาผ่านไป 1 ปีอาการไม่ดีขึ้นตรงกันข้าม ลุกลามจนเป็นลักษณะปีกผีเสื้อ ซึ่งมีอาการคันและลอกร่วมด้วย คุณหมอจึงสงสัยว่าเป็นผื่นโรคเอสแอลอี จึงตัดชิ้นเนื้อที่แก้มไปตรวจ และพบว่าเป็นโรคที่สงสัย จึงรักษาตามอาการเรื่อยมา

หาก 3 ปีที่วนเวียนรักษาที่โรงพยาบาลนั้นอาการกลับแย่ลง นอกจากผื่นที่หน้าลุกลามมากขึ้น มิหนำซ้ำเมื่อโดนแดดแรงๆ ยังเหนื่อยเพลียและมีไข้ต่ำๆ คุณอรกัญญาจึงตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลมายังโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง

“ก็ได้ยาเหมือนเดิม หมอบอกให้เลี่ยงฝุ่นกับแดด แต่ด้วยงานที่ทำอยู่เป็นงานร้านอาหารที่มีการขยายสาขาและมีการก่อสร้างอยู่เรื่อยๆ เราต้องลงไซต์งาน ก็เลี่ยงฝุ่นปูนไม่ได้ แดดนั้นก็ยิ่งเลี่ยงยาก หมอบอกให้ใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวก แต่บางทีก็เผลอ หรือครีมกันแดดที่หมอให้ทาเราทาไม่ได้ พอทาแล้วมีผื่นเล็กๆ เหมือนผื่นสิวเห่อเต็มหน้าเลย หน้าจะตึง แดงเหมือนไม่สบายเลย

“อาการเลยไม่ดีขึ้น แย่ลงเรื่อยๆ หลังๆ เริ่มเหนื่อยง่ายตัวบวมหาสาเหตุไม่ได้ ทั้งที่หมอก็ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ”

อีก 2 ปีถัดมาคุณอรกัญญาตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลอีก เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีกิตติศัพท์การรักษาดีเช่นกัน

“ได้ยาเหมือนเดิม เพิ่มยาสเตียรอยด์เข้ามาอีก รู้สึกว่าหน้าบวมขึ้น อืดขึ้น กลมเหมือนพระจันทร์ เหมือนว่าเราอ้วนขึ้น แต่ไม่ใช่จึงหยุดยาเอง แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น”

ระยะเวลาการรักษาคืบคลานผ่านไปเป็น 6 ปี คุณอรกัญญาเล่าว่าเธอยังคงพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม กินไม่เป็นเวลา กินขนมหวานจำพวกทองหยิบ ทองหยอด ข้าวเหนียว กะทิ เหมือน

ปกติ ดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว นอกจากนี้ยังทำงานหนัก เครียดนอนไม่หลับ แต่ด้วยความที่ไม่สนใจสุขภาพ ยังลุยงานต่อไปทั้งที่บางครั้งรู้สึกเพลียมาก ปวดเข่า ปวดข้อ ปวดบริเวณตาตุ่มเหมือนจะก้าวขาไม่ออก หากแต่ก็ยังฝืนร่างกายต่อไป

กระทั่งล่าสุดต้นปี พ.ศ. 2551 เธอติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้กรวยไตอักเสบ มีอาการไข้ หนาวสั่น อาเจียน จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินและนอนพักในโรงพยาบาลต่ออีก 7 วัน

อาจจะเป็นเพราะความทรมาน ทำให้หลังจากออกจากโรงพยาบาลเธอเริ่มกินยาและปฏิบัติตัวตามหมอสั่ง พร้อมกันนั้นก็เริ่มหาวิธีอื่นที่จะช่วยให้โรคหยุดกำเริบ

วิธีการของคุณอรกัญญาคือ

  1. กินข้าวกล้องหรือข้าวจากการต้มน้ำอาร์.ซี.แทนข้าวขาว
  2. งดเนื้อสัตว์ทุกประเภท ทานธัญพืชและผักแทน
  3. งดกะทิ ของหวานของโปรดเด็ดขาด
  4. ดื่มน้ำเปล่าแทนกาแฟ ถ้าต้องดื่มชาสมุนไพรก็เป็นแบบไม่ใส่น้ำตาล
  5. ออกกำลังกายด้วยการรำกระบองอย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ3 ครั้ง บางวันถ้ามีเวลาน้อยก็จะทำท่าที่เรียกเหงื่อได้
  6. ทำดีท็อกซ์เดือนละ 1 – 2 ครั้ง
  7. ทำรีแล็กเซชั่นด้วยวิธีคลายเกร็งก่อนนอนทุกคืน ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกก็ทำซ้ำอีก
  8. ปล่อยวางเรื่องงาน ไม่นำมาขบคิดเมื่อถึงบ้านแล้ว ถ้าคิดอะไรได้ก็จะจดเอาไว้ แล้วพรุ่งนี้ค่อยคิดต่อ
  9. ตั้งใจเลี่ยงฝุ่นและแดดที่เป็นสาเหตุให้เธอรู้สึกเหนื่อยเพลีย มีไข้ต่ำๆ และทำให้ผื่นที่เป็นเห่อขึ้นเยอะกว่าเดิม

โรคเอสแอลอี

หลังจากการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ราว 3 เดือน คุณอรกัญญาก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ “จากการเป็นคนที่ไม่เคยมีเหงื่อเลยไม่ว่าร้อนแค่ไหน แต่ตอนนี้รำกระบองแล้วจะมีเหงื่อท่วมตัว ถามว่าดีไหม ดีค่ะ กระฉับกระเฉงขึ้น ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกไม่ง่วงเหงาหาวนอน อยากหุงข้าว ออกกำลังกาย ระหว่างวันก็รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น จากเมื่อก่อนเดินขึ้นบันไดสองชั้นก็เหนื่อยมาก หอบ ต้องเกาะราวบันไดเดิน แต่เดี๋ยวนี้เดินได้สบาย แล้วก็ไม่มึนหัว ปวดหัว เป็นไข้ สำออย ต้องกินยาทุก 4 ชั่วโมงเหมือนแต่ก่อน

“ถามว่าหน้าดีขึ้นไหม ไม่ดีค่ะ ยังแดงมาก เพราะเราเลี่ยงฝุ่นไม่ได้ ยิ่งเป็นฝุ่นปูนจากการก่อสร้าง ก็เลยแพ้มากกว่าธรรมดา”

คุณอรกัญญาสรุปเรื่องโรคเอสแอลอีของเธอให้ฟังได้น่าสนใจมาก “คุณหมอบอกว่าโรคนี้รักษาไม่หาย แต่เราควบคุมมันได้ แต่ด้วยงานที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และตัวเองก็ไม่ยอมระวังตัวเองอาการจึงยังทรงอยู่กับที่”

แม้จะมาถูกทางแล้ว แต่เธอยังต้องเพิ่มเวลาการดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม เพราะโรคนี้หากไม่ดูแลตัวเอง…หมอเก่งแค่ไหน โรคก็ไม่ทุเลา

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ปวดเพราะเอสแอลอี เกาต์ หรือรูมาทอยด์

คุณหมอกิติกล่าวว่า อาการปวดข้อของโรคเอสแอลอีไม่ต่างจากโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เพียงแต่คนไข้ที่เป็นโรคเอสแอลอีจะเป็นคนไข้ที่มีอายุน้อยกว่าคนไข้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เพราะสองโรคนี้จะมีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และมีอาการข้อบวมเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้แยกกันไม่ออก ซึ่งต้องอาศัยการตรวจเลือดเพิ่มเติม

ส่วนเกาต์จะสังเกตความแตกต่างได้ง่ายกว่า เพราะเกาต์จะเป็นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี นอกจากนี้เวลาปวดเพราะโรคเกาต์ ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยอาการปวดมากบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหรือข้อเท้าเท่านั้น ไม่ใช่ข้อนิ้วมือหรือข้อมือ

โรคเอสแอลอี

สาเหตุของโรคเอสแอลอี

เราไม่ทราบว่าโรคเอสแอลอีเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ทางการแพทย์เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกัน

ยีน จากการศึกษาโดยทีมวิจัย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสปี ค.ศ. 1997 และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสาธารณสุขโคโลราโด ปี ค.ศ. 2001 พบผลลัพธ์แบบเดียวกันว่า มียีนบางตัวที่ก่อให้เกิดโรคนี้โดยตรง หรือมียีนบางลักษณะเมื่อเกิดปฏิกิริยากับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะก่อให้เกิดโรคนี้

ในปีเดียวกัน คุณหมอเจมี่ มาร์ธ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโกทำการทดลองในหนูและพบว่า ระบบภูมิ-คุ้มกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่จะก่อโรคนี้ ในกระบวนการสร้างคาร์โบไฮเดรตในร่างกายซึ่งผิดไปจากปกติ คุณหมอมาร์ธกล่าวว่า “สิ่งที่เราเอาเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าอาหาร มลภาวะ สารเคมี ล้วนแล้วแต่สามารถเปลี่ยนเซลล์คาร์โบไฮเดรตได้ทั้งสิ้น”

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างเป็นสาเหตุ เพราะคนไข้โรคหัวใจบางรายที่กินยา Procainamide หรือคนไข้ความดันโลหิตสูงบางรายที่กินยา Hydralazine ก็มีอาการของโรคเอสแอลอี แต่เมื่อหยุดยาโรคก็หายไป

แต่เรื่องของยาก็ไม่เกิดขึ้นบ่อย เมื่อเทียบกับแสงแดด สารเคมี หรือโลหะหนัก รวมถึงความเครียดและเชื้อโรคต่างๆ นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศหญิงก็มีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการของโรคเอสแอลอีช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์

เอนไซม์ เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2000 นิตยสาร Nature Genetics รายงานว่านักวิทยาศาสตร์พบว่าเอนไซม์ Dnase-1 มีส่วนทำให้เกิดโรคเอสแอลอี เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายสายป่าน DNA หลังจากการตายของเซลล์ จากการทดลองในหนูพบว่า หากกระบวนการทำลายสายป่าน DNA ขัดข้อง ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านระบบภูมิคุ้มกัน และขณะเดียวกันในการศึกษาผู้ป่วยโรคเอสแอลอี 10 ราย พบว่ามี 4 รายที่เอนไซม์ Dnase-1 ทำงานน้อยลง

ประวัติครอบครัว พบว่าผู้ป่วยโรคเอสแอลอี 10 เปอร์เซ็นต์มีพ่อแม่หรือญาติป่วยเป็นโรคนี้ด้วย และพบเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เป็นโรคนี้มีแม่ป่วยเป็นโรคเอสแอลอี

เป็นโรคเอสแอลอีปฏิบัติตัวอย่างไร

เพราะเป็นโรคที่ซับซ้อน ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่พบ นอกจากการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยยังต้องได้รับคำแนะนำและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องอีกด้วยเพื่อการรักษาจะได้ผลดี??นั่นคือ

– ผู้ป่วยต้องเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอสแอลอี

– ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่รับประทานยา มาติดตามการรักษา และการปฏิบัติตัว

– หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น แสงแดดไม่ควรถูกแสงแดดแรงในช่วงเวลา 8.00 น.-16.00 น.

– หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ การทำงานหนัก ตรากตรำ อดนอนไม่สบายใจ อาจทำให้โรคกำเริบ

– หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อยู่ห่างจากผู้ป่วยโรคหวัด เพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิหรือยาสเตียรอยด์ ทำให้การต่อต้านการติดเชื้อลดลง เมื่อติดเชื้อจึงรุนแรงกว่าคนปกติ และสามารถกระตุ้นให้โรคเอสแอลอีกำเริบ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

– พยายามพักผ่อนให้พอเพียง และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันได้รับการปรับให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น เป็นการป้องกันการติดเชื้อ

– กินอาหารเพื่อสุขภาพ (ยิ่งถ้าเป็นตามสูตรชีวจิตยิ่งดี เพราะอาหารชีวจิตเพิ่มความแข็งแรงของระบบอิมมูนซิสเต็ม) และอาหารจำเป็นต้องสะอาดหรือต้มสุกเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อย่างเช่นส้มตำพบบ่อยๆ ว่า ทานส้มตำแล้วติดเชื้อไทฟอยด์สูงมาก และเมื่อเชื้อไทฟอยด์เข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่หายไปง่ายๆ

โรคเอสแอลอี

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 232