Welcome to Lifestyle Zone!

เศรษฐกิจพอเพียง… ทฤษฎีเพื่อสุข สุขภาพเลิศ ของคนไทย

เศรษฐกิจพอเพียง…

ทฤษฎีเพื่อสุข สุขภาพเลิศ ของคนไทย

“…พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเองคนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย

ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

ที่มาของปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2489 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วแผ่นดินไทย เพื่อทรงศึกษาปัญหาความเป็นอยู่ของชาวไทยซึ่งอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี

พระองค์ทรงพบว่า การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม

แม้การพัฒนาจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค การสื่อสาร แต่ก็ส่งผลให้สังคมเราเกิดความอ่อนแอลงเราต้องพึ่งพิงการตลาด พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ตลอดจนภูมิปัญญาครั้งเก่าก่อนที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาก็ลบเลือนและสูญหายไป

พระองค์จึงทรงนำปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์และทรงเสนอปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศของพระองค์

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญายิ่งใหญ่ของพระราชา

หนังสือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบายถึงปรัชญาสำคัญนี้ว่า

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในทางสายกลางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของคนไทย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประชาชนได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และระดับประเทศ

โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้

  •  ความพอประมาณ หมายถึง พอดีต่อความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปและต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
  •  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมายหลักศีลธรรม หลักจริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม คิดถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถ้วนถี่ โดยคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
  •  ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที
  •  เงื่อนไขสำคัญเพื่อให้เกิดความพอเพียง การตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยทั้งเงื่อนไขคุณธรรม คือ เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้รักสามัคคี ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ และรู้จักแบ่งปันผู้อื่น
  •  เงื่อนไขหลักวิชา คือ อาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้วางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และเงื่อนไขชีวิตคือการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติและปัญญา บริหารจัดการชีวิตโดยใช้หลักวิชาและคุณธรรมเป็นแนวทางพื้นฐาน
  • อ่านต่อหน้าที่ 2

    พ่อของแผ่นดิน

    HOW TO ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชีวิตที่ดี

    ทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตได้ โดยต้อง “ระเบิดจากข้างใน” คือการเกิดจิตสำนึก มีความศรัทธาเชื่อมั่น เห็นคุณค่า และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วจึงขยายไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป โดยวิธีการดังนี้

    1   ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว

    มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งทางกายและใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัวดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมทั้งใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด

    ตัวอย่างเช่น หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวจากการประกอบสัมมาชีพ รู้ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ประหยัดแต่ไม่ตระหนี่ลด-ละ-เลิกอบายมุข สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า รู้จักใช้ และรู้จักออมเงิน ถนอมสิ่งของเครื่องใช้ ดูแลสุขภาพ มีการแบ่งปันภายในครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง

    รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประเพณี และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

    1. 2. ความพอเพียงระดับชุมชน

    คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี เกิดเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันในชุมชนและนอกชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การรวมกลุ่มอาชีพ องค์กรการเงิน สวัสดิการชุมชน การช่วยดูแลรักษาความสงบความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยรวม ทั้งการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง

    1. 3. ความพอเพียง ในภาคธุรกิจเอกชน

    เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์หรือกำไรในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องมีความรู้และความเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่งและเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้

    ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นมีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม

    1. 4. ความพอเพียง ระดับประเทศ

    เป็นการบริหารจัดการประเทศ โดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้ มีความรู้และคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลาย ๆ แห่งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญา และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้ รัก สามัคคี เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

    หากเราทุกคนน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ เชื่อว่าประชาชนไทยทุกคนย่อมมีความสุขสุขภาพเลิศ สมกับที่เกิดมาบนแผ่นดินของพระองค์แน่นอน

    อ่านต่อหน้าที่ 3

    ชีวิตดี สุขภาพเลิศ เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    เนื่องจากนิตยสาร ชีวจิต ได้เคยจัดทำบทความเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้หลายบทความ ในหลายคอลัมน์ จึงขอรวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้มีชื่อเสียงในทุกวงการที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตจริง ดังนี้

    คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานกรรมการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

    “…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) มีพระราชดำรัสว่า ‘ทำงานกับเรา เราไม่มีอะไรให้นอกจากความสุขที่ได้ทำงานเสียสละด้วยกัน’ พระองค์ท่านทรงกำลังสอนเรื่องทานหรือการให้คือ ยิ่งให้ ยิ่งทำ ยิ่งเหน็ดเหนื่อย เรายิ่งได้ความสุข

    “…จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราเคารพพระองค์แต่ไม่เคยนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติส่วนผม เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วก็เห็นผล ชีวิตผมก็เหลือล้น ไม่เคยอดอยาก เพราะมีมิตรคอยเอื้อเฟื้อ และเมื่อเกิดน้ำท่วมก็พึ่งตนเองได้แถมยังเลี้ยงคน 500 คนได้หลายเดือน…”

    คุณวริสร รักษ์พันธุ์ ผู้บริหารชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต

    “พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่า ให้เริ่มต้นจากความง่าย คิดใหญ่ แต่ทำให้เล็ก โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำคือ การพึ่งตัวเอง ยืนด้วยขาตนเองอย่างมั่นคง สิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องแรกคือ อาหาร ผมมองว่าข้าวเป็นสิ่งสำคัญ คนเราต้องกินข้าว 3 มื้อ ถ้าพนักงานทุกคนได้กินข้าวมีคุณภาพ ปลอดภัย ก็น่าจะทำให้สุขภาพแข็งแรง ผมจึงปลูกข้าวปลอดสารพิษไว้ให้บริการทั้งพนักงานและแขกที่มาพักในโรงแรม

    “ผลที่เกิดขึ้นคือ พนักงานสุขภาพแข็งแรง และเขาเริ่มเข้าใจหลักการพึ่งพาตนเองสิ่งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดที่อยากให้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป”

    นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    “ความพอเพียงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะโลกปัจจุบันผลิตอาหารออกมามากมาย ปัญหาเรื่องขาดอาหารน้อยลง แต่กลับเป็นเรื่องบริโภคเกิน ทำให้มีกลุ่มอาการอ้วนลงพุงมากขึ้นนอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นสัตว์โลกที่ขี้เหงาที่สุด จึงพยายามหาทางแก้เหงา ซึ่งมีสองวิธีใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง พึ่งอบายมุข กินของแปลก ๆ ซึ่งบั่นทอนสุขภาพ สอง พึ่งตนเอง เช่น การทำงาน ซึ่งได้ทั้งผลงานและความภาคภูมิใจ

    “รวมถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีหรือถ้าจะให้สรุปโดยย่อคือ เราควรจัดการชีวิตอย่างพอเพียง คือ กินอยู่อย่างพอเพียงพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายให้พอเพียง อย่าเสพสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อกายและใจ”

    ในหลวงรัชกาลที่ 9

    คุณกันธร ทองธิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ

    “ผมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำที่ใช้ ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสีย ลดการใช้สารเคมีทุกชนิด หันมาใช้ปุ๋ยหมัก และการปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งการปลูกป่าทำให้อากาศในเมืองโบราณดีขึ้น เพราะช่วยกรองอากาศพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและยังทำให้คนงานเก็บ

    ผักปลอดสารไว้กินเอง ช่วยให้เราประหยัดค่าปุ๋ยเคมีถึงเดือนละกว่าแปดหมื่นบาท”

    คุณประสาน อิงคนันท์ อดีตพิธีกรรายการกบนอกกะลา และรายการ คนค้นฅน

    “การใช้ชีวิตแบบพอเพียงสำหรับผมคือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่มี มีรายได้เท่าไรก็ใช้เท่าที่มี

    และรู้จักเก็บออม สามารถมีหนี้สินได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่จะต้องแบกรับได้ ไม่เกินตัวรู้จักรักษาสมดุลให้ชีวิต ก็จะเกิดเป็นความสุขจากจิตใจที่พอเพียง ที่สำคัญ ไม่ควรมีความอยากหรือความทะเยอทะยานที่เกินตัว”

    คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)

    “สาเหตุที่บริษัทผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจมาได้ เพราะการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจรอบด้าน ซึ่งเป็นหลักเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความก้าวหน้าไปพร้อมกับความสมดุลในการบริหารธุรกิจ การสานประโยชน์ต่อสังคมภายใต้ความมีเหตุผล

    “นอกจากนี้ยังต้องสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า การไม่เอารัดเอาเปรียบบริษัทคู่ค้า การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมการรับผิดชอบต่อพนักงานในองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหาร การทำธุรกิจโดยหวังกำไรมาก ๆ หรือทำอะไรไปตามกระแสไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน”

    คุณนก - นิรมล เมธีสุวกุล กรรมการบริหาร บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด

    “ความเรียบง่ายคือไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหารการกิน การใช้ชีวิตแต่ความเรียบง่ายไม่ใช่การมักง่าย เพราะถ้าใครต้องการความเรียบง่ายต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งมาก ต้องใช้ความคิด ความรู้ เท่าทันทุกอย่างว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร และบางครั้งอาจจะเป็นการต้านกระแสหลักด้วยซ้ำ”

    จากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 345 (16 พฤศจิกายน 2559)

    บทความน่าสนใจอื่นๆ

    ดวงใจของคนทั้งชาติ พ่อของแผ่นดิน

    ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข

    ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9