Welcome to Lifestyle Zone!

ไขข้อสงสัย ต่อมลูกหมากโต อันตรายมากไหม

ต่อมลูกหมากโต อันตรายไหม ?

ต่อมลูกหมากโต เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ลักษณะเป็นก้อนขนาดประมาณลูกเกาลัด ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ( อยู่ถัดจากส่วนล่างของกระเพาะปัสสาวะ) คนละส่วนกับลูกอัณฑะซึ่งอยู่ในถุงอัณฑะด้านนอก ดังนั้นการตรวจคลำต่อมลูกหมากจึงต้องตรวจโดยการใช้นิ้วหรือเครื่องมือ สอดทางทวารหนัก

เมื่อผู้ชายมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากจะมีการโตขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว บางคนอาการมาก บางคนอาการน้อย และเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดอาการและความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้น

สำรวจอาการต่อมลูกหมากโต

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต เกิดจากเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นจนกดเบียดให้ท่อปัสสาวะส่วนต้น (ที่ต่อมลูกหมากล้อมรอบอยู่) แคบลง เกิดแรงเสียดทานในท่อปัสสาวะ ทำให้การปัสสาวะลำบากขึ้น อาการที่แสดงจะมี 2 กลุ่ม

1.อาการระคายเคือง เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ปัสสาวะต้องรีบ กลั้นไม่ได้นาน
  • ปัสสาวะเล็ดและราดเวลาปวดปัสสาวะ
  • อาการปัสสาวะไม่สุด รู้สึกเหมือนว่ายังมีปัสสาวะค้างอยู่
  • 2.อาการอุดกั้น เช่น

  • ปัสสาวะต้องเบ่ง
  • ปัสสาวะต้องรอ ไม่ออกทันที
  • ปัสสาวะหยุดเป็นช่วงๆ
  • ปัสสาวะพุ่งไม่แรง
  • ปัสสาวะหยดๆตอนท้ายของการปัสสาวะ
  • โรคนี้อันตรายมากไหมครับหมอ

    โรคต่อมลูกหมากโตจัดเป็นโรคเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง ดังนั้นโดยตัวของโรคเองไม่ถือว่าร้ายแรง ผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น มักมีปัญหาเกี่ยวกับการพักผ่อน ความวิตกกังวล รวมไปถึงการรบกวนชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม

    ในกรณีที่อาการของโรครุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อและอักเสบของทางเดินปัสสาวะ การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และการเสื่อมการทำงานของไต ถือเป็นอันตรายและเป็นข้อบ่งชี้ที่จะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

    อันตรายอย่างหนึ่งที่ควรระวังคือมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งพบได้ในผู้ชายสูงอายุเช่นกัน ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอาจมีอาการคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต เมื่อไม่ได้รับการตรวจและรักษาที่ถูกต้องก็เป็นการเปิดโอกาสให้มะเร็งลุกลามไปได้

    ได้เวลาไปหาหมอ

    ดังนั้นชายที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการตรวจต่อมลูกหมาก โดยการตรวจทางทวารหนักและการเจาะเลือดเพื่อดูค่าบางอย่างที่เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อเป็นการป้องกันแต่เนิ่นๆ

    ในรายที่มีอาการผิดปรกติ ดังที่กล่าวข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจรักษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

    วิธีรักษา

    แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของอาการผู้ป่วยแต่ละคน โดยแบ่งเป็น 3 วิธี

    1.การเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำให้สังเกตอาการและปรับพฤติกรรมดังนี้

  • ลดน้ำดื่มหลังอาหารเย็น และก่อนนอน
  • พยายามไม่ให้ท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือชากาแฟ
  • หลีกเลี่ยงยาลดน้ำมูกบางตัวที่มีผลกับการปัสสาวะ
  • 2.การใช้ยา ซึ่งจะมี 2 กลุ่มหลักคือ

  • ยากลุ่มต้านอัลฟ่า ที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อรอบต่อมลูกหมาก ทำให้ท่อปัสสาวะที่ตีบแคบขยายกว้างขึ้น ทำให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
  • ยากลุ่มต่อต้านเอนไซม์ที่มีผลต่อการโตของต่อมลูกหมาก ซึ่งจะมีผลยับยั้งต่อมลูกหมากไม่ให้โตขึ้น และถ้าใช้เป็นเวลานาน 6 เดือนขึ้นไปจะมีผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดลดลงในระดับหนึ่ง
  • 3.การผ่าตัดต่อมลูกหมาก โดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคือ

  • ปัสสาวะไม่ออก (ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ)
  • มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง
  • ไตเสื่อมการทำงานซึ่งเป็นผลจากการอุดตัน
  • ข้อควรรู้ในการปฏิบัติตัว

  • ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ที่บ่งบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่มากหรือน้อยจะมีผลต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต
  • ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย ดังนั้นการลดการกินเนื้อสัตว์ และอาหารฟาสต์ฟู้ดและการกินอาหารที่ปรุงจากธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง งา เมล็ดฟักทอง น้ำมันรำข้าว มะเขือเทศ จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และช่วยให้สุขภาพแข็งแรงดีขึ้น
  • เมื่อมีอาการผิดปรกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • ข้อมูลเรื่อง “ไขข้อสงสัย ต่อมลูกหมากโต อันตรายมากไหม” จากนิตยสารชีวจิต

    โรคมะเร็ง