Welcome to Lifestyle Zone!

ดวงใจของคนทั้งชาติ พ่อของแผ่นดิน

ดวงใจของคนทั้งชาติ

 

พ่อของแผ่นดิน

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 วันแห่งความอาดูร แต่หัวใจเราชาวไทยยังไม่หายโศกเศร้า

หากจะกล่าวถึงความอาลัยที่พสกนิกรไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นดวงใจของคนไทยทั้งชาติ คงมีมากเหลือประมาณจนไม่อาจหาบันทึกเล่มใดจารจารึกได้เพียงพอ

นิตยสารชีวจิต จึงขอรวบรวมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอันมากมายของพระองค์

มาเป็นบันทึกอีกหน้าในการจารึกพระมหากรุณาธิคุณของ “พ่อของแผ่นดิน” ที่หาใครเสมอเหมือนพระองค์

พ่อของแผ่นดิน

เจ้าฟ้าผู้ประสูติในต่างแดน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงศึกษาต่อด้านการแพทย์อยู่ที่วิทยาลัย

การแพทย์ฮาร์วาร์ด โดยมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ในขณะนั้นตามเสด็จด้วย โดยพระนามแรกประสูติคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 มีพระเชษฐภคินีคือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระเชษฐาคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยพระองค์มีพระนามที่เรียกอย่างลำลองว่า “เล็ก”

หลังจากที่ทุกพระองค์เสด็จนิวัตสู่เมืองไทยในปี พ.ศ. 2471 ได้ประทับ ณ วังสระปทุม จนต่อมาในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงพาพระราชธิดาและพระราชโอรสเสด็จฯไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2476

กระทั่งปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลไทยได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (ในขณะนั้น) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8  แห่งบรมราชวงศ์จักรี ในพระนาม “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ในปีถัดมา

อ่านต่อหน้าที่ 2

ขึ้นครองราชย์ด้วยหน้าที่ต่อปวงชน

หลังเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ท่ามกลางความโทมนัสนั้น รัฐสภาลงความเห็นให้ปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อให้แผ่นดินไม่ขาดผู้ปกครอง

…และผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังค์คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

แม้ทรงเสียพระทัยกับการสวรรคตของพระเชษฐา แต่ด้วยทรงตระหนักถึงพระราชภาระทำให้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ จากนั้นเสด็จฯกลับไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเปลี่ยนจากการศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงตั้งพระทัยแต่เดิม มาศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อีกทั้งทรงศึกษาเพิ่มเติมในสาขาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอักษรศาสตร์ ด้วยทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลบ้านเมืองในอนาคต

แม้เวลานั้นจะทรงตระหนักในบทบาทหน้าที่ของการเป็นกษัตริย์ แต่ความผูกพันต่อแผ่นดินเกิดและประชาชนนั้นเกิดขึ้นภายหลัง ดังที่มีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหายในต่างประเทศภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้านั่นคือคนไทยทั้งปวง…”

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

พ่อของแผ่นดิน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ระหว่างทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทอดพระเนตรหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส กับหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร เมื่อครั้งเสด็จฯไปยังประเทศฝรั่งเศส จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ด้วยพระธำมรงค์ที่สมเด็จพระบรมราชชนก เคยพระราชทานหมั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งข่าวการหมั้นหมายนี้สร้างความปีติยินดีให้แก่พสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระคู่หมั้นได้เสด็จนิวัติประเทศไทย เพื่อจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในวันที่ 28 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกัน

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศให้พระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี นับแต่นั้นประชาชนคนไทยจึงได้เห็นทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปตามที่ต่าง ๆ ด้วยกัน ทั้งในสถานที่งดงามและทุรกันดาร จนมีภาพความรักและความเอื้ออาทรต่อกันของสองพระองค์ให้ได้เห็นมากมายมาตลอด 68 ปี

อ่านต่อหน้าที่ 3

พ่อของแผ่นดินเยี่ยมเยียนพสกนิกร 

หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรักษาพระวรกายจากเมื่อครั้งที่ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี พ.ศ. 2491 จนทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ดี ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2494

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาค้นคว้าภูมิประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรในปกครองของพระองค์อย่างจริงจัง และมีพระราชประสงค์ในการออกเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นจากภาคกลางและภาคอีสาน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498

จากนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระผนวชเป็นเวลา 15 วัน ด้วยทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงเว้นระยะการเสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรเอาไว้จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จฯ โดยรถไฟและรถพระที่นั่งออกเยี่ยมเยียนราษฎรทางภาคเหนือในหลายจังหวัดเป็นเวลากว่า 20 วัน และเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรภาคใต้ในเดือนมีนาคมปีถัดมา

ไม่ว่าจะเสด็จฯไปที่ใด ที่นั่นล้วนคลาคล่ำด้วยฝูงชนที่มาเฝ้ารอเพื่อชมพระพักตร์พระราชาและพระราชินีของพวกเขา ทั้งยังเตรียมผลไม้ สิ่งของ รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่พิจารณาว่ามีค่านำมาทูลเกล้าฯถวาย ด้วยซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อประชาชนทุกที่แม้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร

ดังที่ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นั่นเอง

“…สิ่งที่เราทำนี้ เราไม่ได้สู้รบกับผู้คน แต่เราสู้รบกับความอดอยากหิวโหยทำสิ่งนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นและหากทำได้ คนที่คุณนิยามว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”

เยือนมิตรประเทศ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในหลายพื้นที่แล้ว ทั้งสองพระองค์ยังเสด็จฯ เยือนมิตรประเทศเพื่อสานความสัมพันธ์อันดีอีกด้วย โดยเสด็จฯเยือนประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2502 จากนั้นเสด็จฯตามคำทูลเชิญเยี่ยมเยือนของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปที่เคยเสด็จฯไปในช่วงปี พ.ศ. 2503 – 2504

พระราชจริยวัตรที่งดงามและพระปรีชาสามารถของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นที่กล่าวขานผ่านสื่อต่าง ๆ ก่อเกิดความปีติยินดีและความภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งประเทศ

หลังจาก พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระ-ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็มิค่อยได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีก ด้วยพระราชภาระที่มีต่อพสกนิกรในแผ่นดิน แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯแทนพระองค์เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี

อ่านต่อหน้าที่ 4

พระมหากษัตริย์นักพัฒนา 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่ใจศึกษาพระพุทธศาสนา และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานศิลป์ทุกแขนงจนได้รับการเทิดพระเกียรติให้ทรงเป็น “อัครศิลปิน” และพระอัจฉริยภาพตลอด 70 ปีในรัชสมัยของพระองค์ ภาพที่คนไทยเห็นจนชินตาคือ ภาพการทรงงานและเสด็จฯ ตามถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะใกล้ไกลเพียงใดโดยในพระหัตถ์นั้นมีแผนที่ ดินสอ วิทยุสื่อสาร และกล้องถ่ายภาพ ด้วยโปรดการถ่ายภาพสถานที่ที่เสด็จฯ เพื่อทรงนำมาเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของราษฎร โดยเฉพาะราษฎรในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ผลสัมฤทธิ์ของการทรงงานหนักของพระองค์ก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกือบ 4,500 โครงการ โดย 3,000 กว่าโครงการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ด้วยทรงตระหนักว่า “น้ำ” คือปัจจัยดำรงชีพสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นโครงการฝนหลวง เขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน พระราชดำริเกี่ยวกับการดูแลป่า เพื่อชะลอความชุ่มชื้นให้ผืนดินทุกโครงการล้วนทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อปากท้องของประชาชน ดังที่ครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปติดตามความคืบหน้าการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ปฏิบัติการของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2522 ผู้สื่อข่าวทูลถามพระองค์ว่า หากสร้างฝายแห่งนี้สำเร็จ จะถือว่าพระองค์มีชัยชนะเหนือฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือไม่ พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่า

“…สิ่งที่เราทำนี้ เราไม่ได้สู้รบกับผู้คน แต่เราสู้รบกับความอดอยากหิวโหย ทำสิ่งนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น และหากทำได้ คนที่คุณนิยามว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”

“…ความทุกข์ของประชาชนนั้นรอไม่ได้”

พ่อของแผ่นดิน

งานสาธารณสุขเพื่อราษฎร 

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้รับสนองพระราชดำริว่า นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำทรัพยากรดิน และพัฒนาความรู้ทางการเกษตรแล้ว พระบาสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“…การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้นโดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่…”

ด้วยเหตุนี้เมื่อเสด็จฯออกเยี่ยมเยียนราษฎรจะมีหน่วยแพทย์ตามเสด็จด้วยเพื่อตรวจสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะชาวชนบทห่างไกลที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการดูแลด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมจนเกิดเป็น “โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน” ในปีพ.ศ. 2510 โดยทำงานใน 2 ส่วน คือ ออกตรวจสุขภาพประชาชนและฝึกอบรมอาสาสมัครในหมู่บ้านเพื่อดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้เจ็บป่วย และป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข

อีกทั้งมีโครงการในพระราชดำริด้านสาธารณสุขอื่น ๆ อีก อาทิ โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัย รวมถึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อศึกษาวิจัยโรคติดต่อต่าง ๆ และมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย (มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปัจจุบัน) เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนจนปัจจุบันโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคระบาดที่น่ารังเกียจอีกต่อไป

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2505 หลังเกิดเหตุการณ์พายุโซนร้อนแฮเรียตพัดผ่านภาคใต้ของไทยสร้างความเดือดร้อนให้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพียงเวลา 1 เดือน ก็ได้รับทั้งทุนทรัพย์และของบริจาคมากมายจากทั้งในและต่างประเทศและเกิดเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินในเวลาต่อมา

พระราชกรณียกิจเพียงบางส่วนที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระ-ราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา เช่นที่รับสั่งกับบุคคลที่ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเสมอว่า “…ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

จากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 345 (16 พฤศจิกายน 2559)

บทความน่ามนใจอื่นๆ

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ความรู้จากพระราชาสู่ประชาชน