Welcome to Lifestyle Zone!

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

พระมหากรุณาธิคุณ

ด้านคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี การพัฒนา

“แม้พ่อหลวงจากไป แต่ความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีจากพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ในหัวใจคนไทยไปตลอดกาล” เช่นเดียวกับพระราชกรณียกิจ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอีกมากมายที่ก่อร่างสร้างประเทศให้ยังคงปรากฏแก่สายตาจนถึงทุกวันนี้

นิตยสารชีวจิต ขอร้อยเรียงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อประชาชนผ่านตัวอักษร เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

พระมหากรุณาธิคุณด้านคุณภาพชีวิต

ไม่ว่าพสกนิกรจะอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารแสนห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่กำลังเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงอยู่มุมหนึ่งมุมใดของประเทศไทย น้ำพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงแผ่ไพศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก่อเกิดเป็นหลายโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดังต่อไปนี้

โครงการพระดาบส  “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส

สังคมไทยยังมีผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก จนกลายเป็นภาระของสังคมและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีคุณภาพ แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงห่วงใยในคุณภาพชีวิตของราษฎร จึงเกิดเป็นโครงการพระดาบสขึ้นมา

โรงเรียน ตชด. แสงแห่งปัญญาในพื้นที่ห่างไกล

อีกหนึ่งน้ำพระราชหฤทัยด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาจากการที่พระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัย ในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้านและถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้นํามาทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดําเนินเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนทุกแห่งด้วยพระองค์เอง โดยโรงเรียนแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการคือ โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนบํารุงที่ 1 หรือโรงเรียน ตชด. ที่อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

การเรียนการสอนของโรงเรียน ตชด.นั้น นอกจากจะฝึกฝนความรู้เชิงวิชาการแล้ว ยังฝึกฝน “วิชาชีวิต” ซึ่งนําการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามแนวพระราชดําริมาประกอบ เช่น การทําเกษตผสมผสาน การส่งเสริมสหกรณ์ และส่งเสริมการฝึกอาชีพเพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้และภูมิปัญญาสามารถอยู่ร่วมกับท้องถิ่นและธรรมชาติ หาเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืนและพอเพียงอีกด้วย

ราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

เมื่อเกิดภัยพิบัติที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงไม่เคยนิ่งดูดายในความทุกข์ยากนั้น แต่กลับมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะเสด็จฯไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อดูแลราษฎรด้วยพระองค์เอง ทรงจัดตั้งคณะทํางานลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและทรงจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อหาทุนสมทบ

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มีความหมายว่า พระราชาและประชาชนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันนี้ จึงเป็นตัวกลาง ที่จะหนุนนําความเกื้อกูลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และประชาชนร่วมชาติส่งมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและความทุกข์ยากในทุกพื้นที่

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

โครงการกล้า…ดี : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน

คงไม่มีใครลืมอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ.2554 อย่างแน่นอน ซึ่งทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนั้นไม่ได้จบลงเมื่อมวลน้ำผ่านไป เพราะผู้ประสบภัยโดยเฉพาะเกษตรกรที่ตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว กว่าจะปรับปรุงพื้นที่ปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกครั้งต้องใช้เวลาถึงครึ่งปีหลังเหตุการณ์

โครงการกล้า…ดี ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็วที่สุด

คุณสุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่การพัฒนาทางเลือกในการดํารงชีวิตที่ยั่งยืนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าถึงการดําเนินงานของโครงการนี้ว่า

“โครงการกล้า…ดีฯ น้อมนําแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการ ‘ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง’ จึงเกิดการสนับสนุนต้นกล้าพืชผักสวนครัวที่ให้ผลผลิตพร้อมบริโภค รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ โดยการต่อยอดสิ่งที่ขาดให้ชุมชนเข้มแข็ง จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลของโครงการพบว่าสามารถลดรายจ่ายของชาวบ้านได้เฉลี่ย 340 บาทต่อครัวเรือนและสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อครัวเรือน”

อ่านต่อหน้าที่ 2

โรงงานหลวงที่ ๑ จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) คือโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของชาวเขาและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมาจากงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนดอยให้เลิกปลูกฝิ่นแล้วหันมาปลูกพืชอื่นที่สร้างรายได้ทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สําคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา

อีกโครงการจากมูลนิธิชัยพัฒนา ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนให้เป็นแหล่งฝึกอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ถึงงานที่น่าสนใจของมูลนิธินั่นก็คือ อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา

คุณลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสํานักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สรุปการทํางานของมูลนิธิชัยพัฒนาว่า

“เราทําเพื่อมอบความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถหาเลี้ยงชีพและยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง หลังจากนั้นมูลนิธิจะทําเพียงอํานวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ให้ครับ”

“วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบา และกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้…”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2528 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2527

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

พระมหากรุณาธิคุณด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ เกิดเป็นแนวพระราชดําริในการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวหน้าควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ธํารงอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดมา

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) รักษาฐานทรัพยากรสู่เศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยทรงห่วงใยพันธุ์ไม้เก่า ๆ และภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้าน ที่อาจสูญหายไปในอนาคตโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) จึงเกิดขึ้นโดยมีการสนับสนุน 8 กิจกรรมสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้ ใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึก ได้แก่ ปกปักรักษาพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวม ปลูกรักษา วางแผนพัฒนา สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และกิจกรรมสนับสนุนพิเศษที่มุ่งให้ความรู้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่

หญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์จากพระราชา

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงตระหนักถึงปัญหาความแห้งแล้ง จึงมีพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้แผ่นดินที่เคยถูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

แหลมผักเบี้ย โครงการจัดการน้ำเสียและขยะในพระราชดำริ

“…ปัญหาสำคัญคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้ หาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาแล้วทำในเมืองไทยเองก็ทำได้ หรือจะรับจ้างบริษัทต่างประเทศมาก็ทำได้ นี่แหละปัญหาเดียวกัน เดี๋ยวนี้กำลังคิดจะทำ แต่ติดอยู่ที่ที่จะทำ…”

ข้อความข้างต้นนั้นเป็นตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ไว้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ก่อนจะเป็นที่มาแหลมผักเบี้ยโมเดล ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียสู่ความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผู้สนใจสามารถติดต่อดูงานได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0-3259-3252-5

โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ 1,135 ไร่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

อ่านต่อหน้าที่ 3

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แหล่งผลิตพืชผลปลอดสารเพื่อคนไทย

โครงการสนับสนุนและช่วยเหลือชาวเขาและผู้ทุกข์ยากในถิ่นทุรกันดาร สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โดยมูลนิธิโครงการหลวงจัดตั้งขึ้นเพื่อวิจัยผลผลิตและพันธุ์พืชเมืองหนาวสร้างรายได้แก่คนท้องที่ และช่วยให้คนทั่วไปมีทางเลือกในการบริโภคอาหารปลอดสารเคมี

นอกจากนั้นโครงการหลวงยังมีเป้าหมายที่จะกําจัดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ด้วยการหาพืชทดแทน โดยพืชพันธุ์ที่นํามาทดลองเพาะปลูกมีนับร้อยชนิดที่ไม่เคยปลูกในเมืองไทย เช่น สตรอว์เบอร์รี่ พีช ถั่วลันเตา

และการหยิบยื่นความรู้ และวิธีการที่ถูกต้องให้ชาวบ้านใช้หาเลี้ยงชีพนี้ได้ ดึงศักยภาพในการพึ่งพาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกันถ้วนหน้า

พระมหากรุณาธิคุณด้านเทคโนโลยีและการพัฒนา

ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้อยู่ดีกินดี

แก้มลิง แนวทางขจัดทุกข์ภัยน้ำท่วม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วม และน้ำเสียมานานหลายสิบปี โดยทรงเน้นการดูแลและพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำพระราม 9 (แก้มลิง) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงริเริ่มเพื่อจัดการกับปัญหาน้ำในกรุงเทพมหานคร

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ที่มีพระปรีชาในการเปลี่ยนผืนดินแห้งแตกระแหงให้กลับมาชุ่มชื้นและมีชีวิต จากโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ที่สืบเนื่องยาวนานนับครึ่งศตวรรษ

นาวาอากาศเอก มนูญ รู้กิจนา รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึกกรมยุทธการทหารอากาศ เล่าว่า

“โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชนอันเกิดจากความแห้งแล้ง โดยมีพระราชดำรัสภายหลังจากที่เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานในปี พ.ศ. 2498 ว่า

‘ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคเป็นที่รู้กันว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้าและเห็นว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นถูกลมพัดผ่านไป

‘วิธีแก้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฝนเทียม’”

ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสาธิตการทำฝนเทียมแก่คณะผู้แทนนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ที่มาขอเยี่ยมชม ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงบัญชาการด้วยพระองค์เอง ผลการสาธิตคือ สามารถบังคับให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอย่าง อ่างเก็บน้ำได้อย่างแม่นยำ

นับเป็นผลจากพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์โดยแท้

ฝนหลวง

ไบโอดีเซล พลังแห่งพระปรีชาญาณ

นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของประชาชนชาวไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทดแทนเนื่องด้วยทรงตระหนัก ถึงปัญหาขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ คุณอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544

และการร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001”  ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในปีเดียวกัน ส่งผลให้โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์มได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองสดุดีเทิดพระเกียรติพร้อมถ้วยรางวัล

กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อคุณภาพชีวิตปวงประชา

โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจากอัตราการเกิดมลภาวะทางน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไข ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดรอบนอก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงเรื่องนี้และทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตของพสกนิกร จึงได้มีพระราชดำริเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531

โดยรับสั่งให้สร้างเครื่องกลเพื่อช่วยเติมอากาศ โดยใช้รูปแบบที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูงในนาม “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เริ่มต้นใช้งานครั้งแรกในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาล

พระมงกุฎเกล้า และที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2532

การปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้กังหันน้ำชัยพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

ทำให้เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่ พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก

ยังมีโครงการในพระราชดําริอีกมากมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทําเพื่อประชาชนคนไทย ซึ่งเราควรน้อมนําแนวทางที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นี้ไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขแก่ตัวเราเองและประเทศชาติ

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 435 (16 พศจิกายน 2559)

บทความน่าสนใจอื่นๆ

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

โครงการ พระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”