Welcome to Lifestyle Zone!

วิธีเช็คความผิดปกติ เต้านม ก่อนเป็นมะเร็ง

วิธีเช็คความผิดปกติ เต้านม ก่อนเป็นมะเร็ง

เต้านม ไม่ว่าคุณสาว ๆ จะมีเต้าเล็กหรือใหญ่ เราก็ควรจะต้องตรวจคลำสม่ำเสมอ เพราะเดี๋ยวนี้มะเร็งเต้านมกลายเป็นโรคที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย (แต่ผู้ชายก็เป็นได้นะเออ) และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยอันดับหนึ่ง

นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของโรคร้ายนี้ว่า

“แม้จะมีงานศึกษาวิจัยสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมจากทั่วโลกมากว่า 100 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง รู้เพียงแค่ว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเท่านั้น”

คุณหมอธรรมนิตย์อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

ปัจจัยหลัก เช่น หนึ่ง เป็นผู้หญิง สอง มีประวัติคนในครอบครัว สาม อายุ ที่สหรัฐอเมริกาพบสถิติว่ายิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค แต่สำหรับคนเอเชียรวมถึงคนไทย จากสถิติของศูนย์ถันยรักษ์พบผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 40 - 55 ปี

ปัจจัยรอง เช่น ประจำเดือนมาเร็ว อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด ฯลฯ

3 Steps รู้ทันเนื้อร้ายทำลายเต้า 

แม้รู้ว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง แต่มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นมะเร็งเต้านมทั้ง ๆ ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย ดังนั้นต้องหาวิธีรู้ทันเนื้อร้ายก่อนจะลุกลามจนยากเยียวยา นั่นคือ การตรวจเต้านม

คุณหมอธรรมนิตย์อธิบายประโยชน์ของการตรวจเต้านมว่า

“การตรวจเต้านมจะทำให้มีโอกาสพบก้อนเนื้อได้เร็วขึ้นยิ่งพบก้อนขนาดเล็กเท่าไร เร็วเท่าไร การรักษาจะง่ายขึ้นหลักการตรวจเต้านมมี 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง การตรวจเต้านมด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 20 ปขึ้นไปเป็นประจำทุกเดือนสอง ให้แพทย์เป็นผู้ตรวจปีละครั้ง สาม เอกซเรย์เต้านมหรือการทำสกรีนนิ่งแมมโมแกรม (Screening Mammogram)เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี ปีละครั้ง”

ทั้งสามขั้นตอนนี้ต้องทำร่วมกันไป แต่ที่คุณหมอธรรมนิตย์ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ท่านอธิบายว่า

“ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศของเรายังมีเครื่องเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมทั่วประเทศอยู่เพียง 200 - 300 เครื่อง และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งยังขาดแคลนรังสีแพทย์ที่จะเป็นผู้อ่านผลแมมโมแกรม ที่สำคัญ รัฐบาลยังไม่ให้สิทธิครอบคลุมค่าตรวจเอกซเรย์เต้านม ใครต้องการตรวจต้องจ่ายเงินเอง ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้

“มูลนิธิถันยรักษ์ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า พระองค์ทรงมีพระเนตรอันยาวไกล ทรงเห็นอันตรายของมะเร็งเต้านม จึงทรงก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นและพระราชทานชื่อถันยรักษ์ ทรงรับสั่งว่า ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้และต้องช่วยเหลือคนรวยและคนจนอย่างเท่าเทียมกัน การเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตัวเองจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุดในขณะนี้”

แต่มิได้หมายความว่าเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีและบุคลากรจึงทำให้การตรวจเต้านมด้วย

ตัวเองกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เราต้องฝืนทำคุณหมอธรรมนิตย์อธิบายความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตัวเองว่า

“แม้จะทำการตรวจแมมโมแกรมหรือให้แพทย์เป็นผู้ตรวจแล้วก็ตาม แต่หลังจากนั้นผู้หญิงทุกคน จำเป็นต้องตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพราะเนื้อร้ายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงไม่มีใครจะล่วงรู้ความผิดปกติของเต้านมได้ดีเท่ากับตัวเอง

“การคลำหรือสังเกตรูปร่างลักษณะเต้านมของตัวเองเป็นประจำ จะช่วยให้เรารู้จักเต้านมของตัวเองได้เป็นอย่างดี เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น พบก้อนเนื้อที่เต้านม จะได้ไปพบแพทย์อย่างรวดเร็วนอกจากนี้ ผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจเต้านมได้ด้วยตัวเองและไม่มีค่าใช้จ่าย”

เทคนิคตรวจเต้านม อ่านต่อหน้าที่ 2 ค่ะ

ออมวันละนิดเพื่อตรวจเต้า

ตรวจเต้านม

การไปพบแพทย์หรือทำแมมโมแกรมเพื่อตรวจเต้านมนั้น ถ้าใครสามารถทำได้ก็ถือว่าจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ดียิ่งขึ้น คุณหมอธรรมนิตย์เพิ่มเติมว่า

“ค่าตรวจแมมโมแกรมในแต่ละโรงพยาบาลจะมีราคาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องตรวจการตรวจแมมโมแกรมประเภทสกรีนนิ่งหรือการตรวจคัดกรอง ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าเราพอมีรายได้ แค่หยอดเงินใส่กระปุกไว้วันละ 5 - 10 บาท สิ้นปีเราย่อมมีเงินสำหรับตรวจแมมโมแกรมแน่นอน”

นอกจากนี้คุณหมอธรรมนิตย์ยังเน้นย้ำว่า อย่าเข้าใจผิดคิดว่าหลังจากตรวจแมมโมแกรมแล้ว จะมั่นใจว่าปลอดภัยจากมะเร็งเต้านมไปตลอดชีวิต ต้องตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่องเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปีและที่สำคัญ ต้องตรวจเต้านมด้วยตัวเองอยู่เสมอ

รวมถึงต้องใช้ชีวิตให้สมดุล อาหารต้องเลือกที่มีประโยชน์ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำงานอย่างสนุกและสร้างสรรค์ จะเป็นเกราะป้องกันมะเร็งเต้านมได้ดีอีกชั้นหนึ่ง

ลองทำกันดูนะสาว ๆ จ๋า เชื่อว่าจะปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม

เทคนิคตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

ตรวจเต้านม

ขั้นที่ 1  ดูด้วยตา (Look for Change)

1.1 ยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบายแล้วสังเกต

- รูปทรงเต้านมทั้งสองข้างมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่

- หัวนมมีการเปลี่ยนสีหรือมีของเหลวไหลออกจากหัวนมหรือไม่

1.2 ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ

- สังเกตด้านหน้าและด้านข้างของเต้านมว่ามีความผิดปกติ เช่น รอยยุบหรือรอยบุ๋มหรือไม่

1.3 ยืนเท้าเอว เกร็งหน้าอก โค้งตัวมาข้างหน้าแล้วสังเกต

- เต้านมที่ห้อยมาข้างหน้าผิดปกติหรือไม่

- หัวนมบิดเบี้ยวหรือไม่

ขั้นที่ 2 คลำด้วยมือ (Feel for Change)

2.1 นอนหงายในท่าที่สบาย

2.2 สอดผ้าขนหนูม้วนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจโดยให้แขนตั้งฉากกับไหล่

2.3 ใช้กึ่งกลางนิ้วส่วนบน 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วนางนิ้วกลาง)

- กดเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญบาทแล้วเคลื่อนนิ้วให้ทั่วบริเวณเต้านมโดยไม่ยกนิ้ว โดยกด 3 ระดับเบา กลาง หนัก

- คลำจากบริเวณใต้ราวนมจนถึงกระดูกไหปลาร้าในแนวขึ้นลงจนทั่วบริเวณเต้านมถึงบริเวณใต้ท้องแขนโดยใช้วิธีเคลื่อนนิ้วเช่นกัน

2.4 ตรวจเต้านมอีกข้างแบบเดียวกัน

ศูนย์ถันยรักษ์ ชั้น 7 อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2411-5657 - 9, 0-2412-2652-3 www.thanyarak.or.th

จากคอลัมน์ Healthy lifestyle นิตยสารชีวจิต ฉบับ 355 (16 กรกฏาคม 2556)

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็คอาการเจ็บเต้านม ก่อนหาหมอ

รักษามะเร็งเต้านม ด้วยแมคโครไบโอติกส์

“เสียงหัวเราะ” เยียวยา มะเร็งเต้านม