Welcome to Lifestyle Zone!

2 ท่าบริหาร กำราบ โรคไมเกรน

2 ท่าบริหาร กำราบ โรคไมเกรน

โรคไมเกรน เป็นโรคที่มีอาการกวนใจ บั่นทอนชีวิตและสุขภาพอย่างมาก อาการปวดไมเกรนนั้นบางครั้งรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลยก็มี เราจึงมีวิธีแก้ง่ายๆ ด้วยท่าบริหารมาฝากกัน

คุณมานพ ประภาษานนท์ ผู้เขียนหนังสือ “รู้กันรู้แก้ด้วยกายภาพบำบัด” อธิบายลักษณะและประโยชน์ของการกายภาพว่า

การกายภาพ คือ การกระทำในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อบำบัด ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูสมรรถภาพหรือความพิการของร่างกายหรือจิตใจด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การดัดการดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกายหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังใช้เครื่องมือทางกายภาพเข้ามาช่วย เช่น การใช้ความร้อน แสง เสียง”

รองศาสตราจารย์นวลอนงค์ ชัยปิยะพร รองคณบดีฝ่ายคลินิก คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า

“การกายภาพเป็นการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา เหมือนเราเป็นหมอผ่าตัด แต่ไม่ต้องเปิดแผลเพราะแผลของคนไข้ที่มารับการกายภาพเกิดจากการได้รับบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และอาจกลายเป็นผังผืดอยู่ภายในที่เรามองไม่เห็น สรุปว่า เราต้องปรับลักษณะกายภาพภายนอกเพื่อเข้าไปรักษาภายใน”

ไมเกรน

อาการ ปวดร้าวมาที่กระบอกตา ปวดศีรษะข้างเดียวหรือสองข้าง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

สาเหตุ การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อจนกลายเป็นจุดกดเจ็บ (Trigger Point) เกิดจากท่าทาง เช่น การยื่นหน้าหรือก้มหน้าเขียนหนังสือเป็นเวลานานหรือมองจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับไม่ได้ระดับนานๆ

นั่งหลังตรง

ท่าที่ 1
  1. นั่งหลังตรง ก้มคางลงชิดอก
  2. ประสานมือทั้งสองเข้าด้วยกันวางด้านหลังศีรษะ ออกแรงกดค้างไว้ นับ 1 – 10 ทำซ้ำ 3 – 5 ครั้ง

ข้อควรระวัง

การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้น ผู้ที่ควรระวังเป็นพิเศษคือ คนไข้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยมะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งกระดูก) และผู้ที่มีภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน หากต้องไปทำกายภาพควรแจ้งให้นักกายภาพบำบัดทราบก่อน นอกจากนี้คุณรัชนีวรรณและคุณพรสิริยังแนะนำว่า “การบริหารต้องทำซ้ำประมาณ 3 – 5 ครั้ง แต่อย่าฝืนตัวเอง หากรู้สึกเจ็บแปล๊บหรือปวดขณะทำต้องหยุดทันที หรือหลังจากทำกายภาพแล้วยังมีอาการปวดอยู่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที”

ท่าที่ 2
  1. นั่งหลังตรง ตั้งข้อศอกทั้งสองข้างขึ้น กางนิ้วมือเป็นรูปตัวแอล โดยกางนิ้วหัวแม่มือออกให้ตั้งฉากกับนิ้วที่เหลือซึ่งเรียงชิดกัน
  2. วางนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างใต้ฐานกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นแอ่งเล็กๆ ออกแรงกดเล็กน้อยแล้วหมุนวน

นับ 1 – 10 ค้างไว้ ทำซ้ำ 3 – 5 ครั้ง

ข้อควรระวัง

หากขณะทำมีอาการคลื่นไส้อาเจียนต้องหยุดทำทันที และรีบไปพบแพทย์

คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 267 (16 พฤศจิกายน 2552)

บทความน่าสนใจอื่นๆ

4 ยาดี หยุดไมเกรนชะงัด

ปวดแบบนี้…ไซนัสหรือไมเกรน

4 โรคแถม จากอาการปวดหัวไมเกรน