Welcome to Lifestyle Zone!

8 เทคนิค รับมือโรคเอสแอลอี

เทคนิค รับมือโรคเอสแอลอี

โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus – SLE) เมื่อหลายสิบปีก่อนได้คร่าชีวิตราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ไป นับจากวันนั้นหลายคนจึงเรียกโรคดังกล่าวว่า “โรคพุ่มพวง”

จนถึงวันนี้เรายังพบผู้ป่วยโรคเอสแอลอีเพิ่มขึ้นทุกขณะ หลายคนสามารถดูแลตัวเองเพื่อประคับประคองอาการได้อย่างดี แต่บางคนลืมใส่ใจสุขภาพจึงทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว

วิธีปรับวิถีชีวิตตามศาสตร์แพทย์แผนจีนสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการป้องกันตัวเองจากโรคร้ายนี้ไว้ดังนี้ค่ะ

1. ควรงดอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันสูง และของทอดเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอีต้องใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์รักษาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้

2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ผักโขม ซึ่งมีปริมาณออกซาเลต (Oxalate) สูง กินมาก ๆ อาจทำให้เป็นโรคนิ่ว ทั้งยังส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่มีภาวะไตอักเสบจากโรคเอสแอลอีเพราะจะทำให้มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดหอมและขึ้นฉ่าย เพราะส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ทำให้ผิวเกิดการอักเสบและมีผื่นแดงได้

3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะทั้งแอลกอฮอล์ในเหล้าและสารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดเกิดการระคายเคืองและมีการอักเสบมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ไตทำงานหนักจากการขับสารพิษที่ร่างกายรับเข้าไป

4. หลีกเลี่ยง “เสียชี่” (xié qì) หรือพลังไม่ดีจากภายนอกที่จะเข้าสู่ร่างกาย เช่น การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียแสงอัลตราไวโอเลต เพราะหากผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมีการติดเชื้อจะยิ่งไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากขึ้น อาการจะยิ่งกำเริบ

แตงโม

5. กินอาหารฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์กลาง เช่น แตงโม สาลี่ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนสามารถกินได้ แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะ

6. ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และอยู่กับอากาศตามฤดูกาล การปล่อยให้ร่างกายต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนกะทันหันหรือถูกลมเป่าโกรกร่างกายตรง ๆ เพราะจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและเจ็บป่วยง่าย

7. พักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำว่าอย่างน้อย ๆ ควรนอนหลับให้สนิทในช่วงเวลา 23.00 น. – 3.00 น. เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่เส้นลมปราณของถุงน้ำดีและตับทำงานมากที่สุด เลือดทั่วร่างกายจะไหลเวียนกลับไปสู่ตับ โดยตับจะช่วยทำลายสารพิษต่าง ๆ ในเลือดและสร้างเลือดใหม่

รำไทเก๊ก

8. ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การรำไทเก๊ก ที่นอกจากจะช่วยให้เลือดลมเดินสะดวกแล้ว ยังช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานและสร้างสมาธิ ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

สุดท้ายนี้ อาจารย์วีรชัยได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอีไว้ว่า การรักษาโรคเอสแอลอีนั้นไม่ควรรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกอย่างเดียว แต่ควรทำควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยแพทย์แผนจีนจะทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการรักษาหลัก ปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้ประสานสอดคล้องกันส่งผลในการเสริมฤทธิ์ของยาแผนปัจจุบันต่าง ๆ จึงสามารถลดขนาดยาแผนปัจจุบันลงมาในปริมาณที่ต่ำที่สุด แต่ยังมีฤทธิ์รักษาได้ เช่น ช่วยลดปริมาณการใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์ลง จึงช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเองหรือปรับลดปริมาณยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

บทความน่าสนใจอื่นๆ

บรรเทาโรคเอสแอลอีด้วยการดูแลตัวเอง

วิตามินเพิ่มอิมมูน ป้องกัน เอสแอลอี( SLE )