Welcome to Lifestyle Zone!

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคหัวใจ

สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคหัวใจ

            โรคหัวใจ เป็นโรคที่พบมากในประเทศไทย นอกจากการสืบทอดทางพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้ ซึ่งหากเรารู้ก่อนก็ย่อมหลีกเลี่ยงได้ก่อน และสามารถลดโอกาส การเกิดโรคหัวใจได้อย่างมากทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้มีหมอรุ่นหนุ่ม ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี มีคนไข้ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเข้ามารักษาทุกวัน

ต่างจากเมื่อสิบปีก่อน ที่นานน้านกว่าจะมีคนไข้เข้ามาสักเคสหนึ่ง ความชุกของโรคหัวใจขาดเลือดในคนไทยสมัยนี้มากพอ ๆ กับฝรั่ง ทั้งคนยากดีมีจน ทั้งคนต่างจังหวัดและคนในเมืองกรุง

หากพูดถึงความพยายามที่จะลดการเกิดโรคหัวใจของฝรั่งสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA-American Association) ได้สรุปงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องออกมาเป็นตัวเลขกลม ๆ ว่าการไปโรงพยาบาล หาหมอ กินยา ผ่าตัด หรือทำบอลลูนจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้ร้อยละ 30 แต่การดูแลตัวเองโดยปฏิบัติตามดัชนีง่าย ๆ 7 ตัวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 91

ชั่งน้ำหนัก

สมาคมหัวใจอเมริกันจึงได้ออกสโลแกน “ง่ายๆ เจ็ดตัว” หรือ “Simple 7” ได้แก่

1. ดัชนีมวลกายหรือน้ำหนัก

2. ความดันโลหิต

3. ไขมันในเลือด หมายถึงไขมันเลวแอลดีแอล (LDL) หรือคอเลสเตอรอลรวมก็ได้

4. น้ำตาลในเลือด ซึ่งจะใช้น้ำตาลหลังอดอาหาร (FBS) หรือน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (A1C) ก็ได้

5. ดัชนีการออกกำลังกาย

6. ดัชนีการกินพืชผักผลไม้

7. การสูบบุหรี่

ดัชนีส่วนใหญ่นั้นเข้าใจง่าย ผมจึงขอไม่พูดถึง ขอพูดถึงแค่ 2 ข้อ คือ ดัชนีการออกกำลังกายและการกินพืชผัก ผลไม้

สำหรับดัชนีการออกกำลังกายนั้นมีหน่วยนับเป็นนาทีต่อสัปดาห์ โดยนับเฉพาะการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องที่ได้ออกแรงระดับหนักพอควร (Moderate Intensity) ซึ่งนิยามว่า ต้องหอบแฮ่ก ๆ จนร้องเพลงไม่ได้ โดยบวกเวลาที่ได้ออกแรงระดับหนักพอตลอดหนึ่งสัปดาห์ ให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไปก็ถือว่าโอเค ย้ำหน่อยว่า นับเฉพาะช่วงที่หอบจนร้องเพลงไม่ได้นะ ไม่ใช่ผูกเชือกรองเท้าก็เริ่มจับเวลาแล้ว

ออกกำลังกาย

ส่วนดัชนีการกินพืชผักผลไม้นั้นมีหน่วยนับเป็นเสิร์ฟวิ่ง (Serving) โดยนิยามว่า ผลไม้ 1 เสิร์ฟวิ่งมีน้ำหนักประมาณแอ๊ปเปิ้ลลูกโต ๆ 1 ลูก ส่วนผัก 1 เสิร์ฟวิ่งเท่ากับผักสลัดสด 1 ถ้วย หรือสลัด 1 จานของคนไทยเราโดยมีค่ามาตรฐานว่าคนทั่วไปควรกินผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 เสิร์ฟวิ่ง ถ้าจะกินพืชผักผลไม้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูงหรือที่เรียกว่าอาหารลดความดันโลหิต (DASH Diet) นั้น จะต้องกินผลไม้ 5 ผักอีก 5 รวมเป็น 10 เสิร์ฟวิ่ง

ท่านผู้อ่านครับ ดัชนีทั้ง 7 ข้อนี้เป็น “เลขเด็ด” ประจำตัวของเราทุกคน ท่านต้องจำเลขเด็ดนี้ให้ได้ และรู้ว่าดัชนีตัวไหนของท่านที่ยัง “หลุด” ไปจากค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นให้ท่านขยันจัดการปัจจัยที่ทำให้ดัชนีนั้นหลุดเพื่อให้ตัวเลขกลับเข้าที่ให้ได้

ถ้าทำได้ก็จะได้ชื่อว่าสามารถจัดการปัจจัยเสี่ยงด้วยตัวเองได้สำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจลงได้ถึงร้อยละ 91

แม้กระทั่งฝรั่งเองก็ใช่ว่าเก่งกาจจนเข้าใจวิธีดูแลตัวเองมากมายนะครับ งานวิจัยของโรงพยาบาลคลิฟแลนด์ ซึ่งทำโดยการยกหูโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ใหญ่จำนวน 1,000 คนพบว่า ร้อยละ 7 ไม่มีความรู้เลยว่าดัชนีมวลกายคืออะไรตัวเองควรมีน้ำหนักอยู่เท่าไร อีกร้อยละ 62 ไม่รู้ว่าตัวเองมีความดันโลหิตเท่าไร ร้อยละ 60 ไม่รู้ว่าค่าความดันโลหิตปกติต้องไม่เกิน 120 / 80 มิลลิเมตรปรอท

อีกประมาณครึ่งหนึ่งไม่รู้ว่าไขมันในเลือดของตัวเองมีค่าเท่าไร แต่ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยมีความรู้อย่างนี้ จะว่าคนอเมริกันไม่ใส่ใจสุขภาพก็ไม่ได้นะครับ เพราะในการสำรวจครั้งนี้พบว่า ร้อยละ 67 ขวนขวายไปซื้อวิตามินและอาหารเสริมมากินเองเพราะอยากมีสุขภาพแข็งแรง

แต่น่าเสียดายที่ว่า ยังไม่มีหลักฐานอะไรสนับสนุนเลยว่า การกินวิตามินและอาหารเสริมแล้วจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นคนกลับไปซื้อวิตามินและอาหารเสริมกินกันมาก แต่ตัวเลขเด็ด 7 ข้อนี้ หากรู้แล้วและลงมือปฏิบัติเสียจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นแน่นอน แต่คนกลับไม่รู้และไม่ใส่ใจ

สำหรับผู้อ่านของหมอสันต์ ท่านจะกินวิตามินหรืออาหารเสริมผมก็ไม่ว่านะครับ เพราะเพื่อนหมอสันต์บางคนก็ทำวิตามินขาย แต่ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าลืมเลขเด็ดประจำตัวท่าน 7 ข้อนี้ก็แล้วกัน

ข้อมูลจาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 443 (16 มีนาคม 2560)

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ดูแล “โรคหัวใจ” ออกกำลังกายแต่พอดี

ข้าวบาร์เลย์ ป้องกันโรคหัวใจ

4 เทคนิคออกกำลังกาย สำหรับคนเป็น โรคหัวใจ

3 อาหารต้านโรคหัวใจ