Welcome to Lifestyle Zone!

5 วิธีภูมิปัญญาไทยกับการใช้ ‘ยอ’ ดูแลสุขภาพ

การใช้ ยอ ดูแลสุขภาพ

เภสัชกรหญิง สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร จังหวัดปราจีนบุรี อธิบายถึงวิธีใช้ ยอ ในฐานะสมุนไพรพื้นบ้านในวัฒนธรรมไทย ดังนี้

“ยอ เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ปลูกง่ายโตไว วิธีปลูกก็ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากแคะเมล็ดจากผลยอสุก นำมาล้างให้สะอาดแล้วไปเพาะในทรายผสมขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ รดน้ำพอชุ่มทุกวัน เมื่อต้นสูงประมาณ 1 คืบจึงค่อยย้ายไปปลูกต่อในหลุ่มที่เตรียมไว้ ต้นยอที่มีอายุ 1-2 ปีจะเริ่มติดผล ยอเป็นไม้ที่ติดผลตลอดทั้งปี ชอบแดดจัด ทนดินเค็มและความแห้งแล้งได้ดี ”

ดูแลสุขภาพ

“คนไทยสมัยก่อนนิยมนำลูกยอมาหมักเกลือ จิ้มกินกับน้ำผึ้งเป็นผลไม้ หรือเอาลูกยอใส่โหลทิ้งไว้ให้สุกแล้วนำไปกวนกับน้ำผึ้ง ใส่เกลือ พริกไทยลงไปนิดหน่อย ปั้นเป็นลูกกลอน”

“มีช่วงหนึ่งที่คนไทยฮิตกินน้ำโนนิ หรือ น้ำลูกยอ ราคาแพงนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวรได้ผลิตแคปซูลยอ นำมาใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาล ที่ได้ผลดีมาก คือ ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ภูมิแพ้ หวัด เครียด นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ”

“เราพบว่าน้ำคั้นจากลูกยอ มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายและควบคุมการทำงานของเซลล์ สร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมแล้ว ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดตามข้อ อาการภูมิแพ้ และอาการปวดก่อนมีประจำเดือน”

เภสัชกรหญิง สุภาภรณ์ ระบุถึงวิธีนำยอมาใช้ดูแลสุขภาพ ดังนี้

1.น้ำลูกยอ นำลูกยอห่ามๆ มาล้างทำความสะอาด ปั่นกับน้ำต้มสุกแล้วกรองเอาแต่น้ำ นำน้ำลูกยอที่ได้มาผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น น้ำสัปปะรด น้ำฝรั่ง น้ำเสาวรส เพื่อช่วยให้กลิ่นและรสชาติดีขึ้น เนื่องจากลูกยอห่ามจะมีกลิ่นเฉพาะตัวและมีรสฝาดเล็กน้อย

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

2.ลูกยอหมัก นำลูกยอที่แก่จัดแต่ยังไม่งอม สังเกตได้ว่าผิวลูกยอจะเปลี่ยนเป็นสีขาว เอาไปใส่โหลแก้วที่นึ่งฆ่าเชื้อด้วยความร้อนจัด วางเรียงทีละชั้นแล้วโรยเกลือเล็กน้อย วางเรียงซ้อนๆ กันจนเต็มโหล ทิ้งไว้ 1-2 วันลูกยอจะสุกงอม นำมาจิ้มเกลือ น้ำตาล หรือ น้ำผึ้ง กินทั้งเม็ดและเนื้อ วันละ 1 ลูก หรือ ฝานบางๆ จิ้มเกลือ

3.ลูกยอกวน นำลูกยอแก่จัด มาล้างทำความสะอาด แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กระทะเปิดไฟอ่อนๆ เติมน้ำและเกลือป่นเล็กน้อย กวนไปเรื่อยๆ จนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด  สังเกตว่าเนื้อยอเริ่มแห้ง ให้ปิดไฟแล้วพักไว้ให้เย็น นำมาปั้นเป็นลูกเล็กๆ ขนาดปลายนิ้วก้อย ผึ่งแดดให้แห้งแล้วเก็บไส่ตู้เย็น กินวันละ 1 เม็ด ช่วยบำรุงร่างกาย

ยอ

4.ลูกยอดิบ นำลูกยอดิบที่มีผิวสีเขียวอ่อนๆ มาล้างทำความสะอาดแล้วใส่ในหม้อ เติมน้ำพอท่วม ต้มด้วยไฟอ่อน สัก 10-15 นาที เสร็จแล้วปิดไฟพักไว้ให้เย็น ใช้ดื่มแก้คลื่นไส้ อาเจียน ขับระดู ขับลมในลำไส้ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ หรือ นำผลดิบมาฝานเป็นแผ่นตากแห้งแล้วเผาเป็นถ่าน นำมาป่นเป็นผงผสมเกลือ ใช้อมเพื่อลดอาการเหงือกอักเสบหรือบวมได้

5.ใบยอ เลือกใบสดที่มีสีเขียวเข้ม นำมาล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่น้ำต้มสุกเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำ นำมาใช้หมักผมฆ่าเหา หรือ จะนำมาทาตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าที่มีอาการปวดบวม หรือ นำน้ำคั้นใบยอมาดื่ม ช่วยลดไข้และบำรุงธาตุ นอกจากนี้ ยังสามารถนำใบยอสดมาย่างไฟให้ร้อน นำมาประคบที่หน้าอก บรรเทาอากาศปอดอักเสบ และที่นิยมอีกอย่าง คือ ชาวภาคกลางนิยมนำใบยอไปรองกระทงห่อหมก ส่วนชาวภาคใต้ นำใบยอสดไปหั่นใส่แกงปลา

ที่มา คอลัมน์ เรื่องพิเศษ จ่ายแพงไปทำไม หันมากินยออย่างไทยดีกว่า  ผู้เขียน วิรตี นิตยสาร ชีวจิต